![]() |
||||||||||||
|
||||||||||||
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() สภาพอากาศประจำวัน ![]()
ที่
Aix-en-Provence
การติดต่อที่จำเป็น ลิงค์เพื่อนบ้าน |
แนวทางบริการสาธารณะของคณะกรรมาธิการยุโรป[1] โดย ณัฐสุดา ธรรมถนอม
( คลิ้กเพื่อไปอ่านต่อจากครั้งที่แล้ว) เมื่อพูดถึงเรื่อง “บริการสาธารณะ” เราคงจะนึกถึงประเทศฝรั่งเศสก่อน เพราะถือได้ว่าเป็นเจ้าทฤษฎีเรื่องนี้ โดยหลักเรื่อง“บริการสาธารณะ”แบบฝรั่งเศส หรือ Service public ได้ถูกคิดและเป็นข้อถกเถียงกันมานาน จนอาจถือได้ว่าเป็นหัวใจของกฎหมายปกครองโดยแท้ และในความเป็นจริงนักวิชาการชาวฝรั่งเศสเองก็ต้องการเผยแพร่หลักนี้ให้กับประเทศต่างๆด้วยความภาคภูมิใจ (ผู้ที่สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับทฤษฎีบริการสาธารณะของฝรั่งเศส ขอแนะนำให้อ่านบทความดีๆ ของพี่ชัย (ธีระชัย จาตุรนต์สวัสดิ์) เรื่อง ทฤษฎีบริการสาธารณะในกฎหมายปกครองฝรั่งเศส : ข้อความคิด แนวทางการใช้ และระบบกฎหมายค่ะ) เมื่อเกิดสหภาพยุโรป (Union Européenne) ขึ้น ฝรั่งเศสได้พยายามปลูกฝังแนวความคิดเกี่ยวกับ “บริการสาธารณะ”เข้าไปสู่กลไกและระบบต่าง ๆ ของประเทศสมาชิกในยุโรป แต่เนื่องจากแนวความคิดและระบบกฎหมายที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศทำให้คณะกรรมาธิการยุโรปพยายามหาจุดร่วมของหลักบริการสาธารณะที่จะสามารถใช้เป็นหนึ่งเดียวยุโรปได้ ซึ่งเป็นที่มาของวิจัยที่เรียกกันว่า “สมุดปกขาว (livre blanc)” ที่ได้จัดทำออกมาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2547 เพื่อให้คำจำกัดความ และเสนอแนวทางเกี่ยวกับการบริการสาธารณะแบบยุโรป โดยแบ่งเนื้อความเป็น 3 ส่วนคือ - การแบ่งสรรหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการบริการสาธารณะระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิก - หลักการบริการสาธารณะตามแบบสหภาพยุโรป - แนวทางปฏิบัติใหม่และนโยบายที่เป็นไปในทางเดียวกัน โดยเราจะได้พูดคุยกันต่อไปในที่นี้
ความเป็นมา
ในปัจจุบัน สหภาพยุโรปเข้ามามีบทบาท และมีอิทธิพลต่อนโยบาย และกฎหมายของประเทศสมาชิกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยกลายเป็นผู้วางหลักให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามเพื่อให้เป็นไปในทางเดียวกัน
สหภาพยุโรปมีพื้นฐานมาจากการรวมตัวเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยมีนโยบายหลัก 3 ประการคือ - การเปิดเสรีในการเดินทางติดต่อและลงหลักปักฐานของประชาชน (Libre circulation des personnes) - การเปิดเสรีในการขนส่งและจำหน่ายสินค้า (Libre circulation des marchandises) และ - การเปิดเสรีการลงทุน (Libre circulation des capitaux)
การที่สหภาพยุโรปนั้นเริ่มต้นจากการรวมเป็น “ยุโรปพาณิชย์”(Europe des marchands) เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จึงไม่น่าแปลกใจว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้ออกกฏต่้างๆตามแบบเศรษฐกิจเสรีนิยม (Libéralisme) โดยเน้นการแข่งขันเสรีทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดเสรีกิจการต่างๆที่เคยเป็นของรัฐ เช่น การไฟฟ้า โทรคมนาคม เป็นต้น
ในขณะเดียวกันกลุ่มนักวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักวิชาการฝรั่งเศสบางกลุ่มผู้สนับสนุนทฤษฎีบริการสาธารณะ (service public) ก็ต้องการให้รัฐรักษาบทบาทในทางเศรษฐกิจไว้ โดยต้องการให้รัฐจัดการรับผิดชอบกิจการต่างๆที่เป็นบริการสาธารณะด้วยตนเอง นักวิชาการกลุ่มนี้ก็ได้ยกทฤษฎีบริการสาธารณะมาเพื่อพยายามหลีกเลี่ยงการเปิดเสรีกิจการสำคัญๆของรัฐ ทั้ง ๆ ที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา กฎหมายยุโรปไม่ได้พูดถึงการบริการสาธารณะ แต่กลับเน้นเรื่องการแข่งขันเสรีทางการค้า และการเปิดเสรีการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการใหญ่ๆเช่น การไฟฟ้า โทรคมนาคม ซึ่งส่วนมากเป็นกิจการที่ถูกผูกขาดโดยรัฐ
ปัจจุบันสหภาพยุโรป ได้หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องบริการสาธารณะ โดยจัดให้มีการปรึกษาหารือ และอภิปรายมาหลายครั้ง โดยเมื่อกลางปี 2546 คณะกรรมาธิการยุโรป (Commission Européenne) ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป ได้จัดทำสมุดปกเขียว (livre vert) เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องบริการสาธารณะแบบยุโรป จากความคิดเห็นต่างๆที่ได้รับมา คณะกรรมาธิการยุโรป ได้ออกบทสรุปมาเป็นสมุดปกขาว (livre blanc) เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2547 เกี่ยวกับ “บริการสาธารณะ” ที่เรียกตามแบบสหภาพยุโรปว่า “ Service d’intérêt général ”
ก่อนที่จะมาดูในรายละเอียดของผลงานวิจัยของคณะกรรมาธิการยุโรปชิ้นนี้ จะขอกล่าวถึงคำจำกัดความ และนิยามของคำที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ก่อนดังนี้
คำว่า “บริการสาธารณะ” (Service d’intérêt général) เป็นที่น่่าสังเกตว่า สหภาพยุโรปเลือกใช้คำที่ต่างจากคำที่ใช้เรียก “บริการสาธารณะ” (Service public) ในประเทศฝรั่งเศส ดังนั้น การบริการสาธารณะแบบยุโรป จึงไม่เหมือนกันเสียทีเดียวกับการบริการสาธารณะแบบฝรั่งเศส ดังนั้น คำว่า “บริการสาธารณะ” ที่ใช้ในสมุดปกขาวนี้จึงไม่ได้หมายถึง “บริการสาธารณะ”แบบฝรั่งเศส แต่เป็นบริการต่างๆที่รัฐเห็นว่าสำคัญ และก่อให้เกิดผลประโยชน์ของส่วนรวม นอกจากนี้เราจะเห็นว่าในสนธิสัญญาต่างๆของยุโรป ไม่ปรากฏคำว่าบริการสาธารณะ โดยจะพบแต่เพียงคำว่า บริการเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมทางเศรษฐกิจ หรือ Service d’intérêt économique général ในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ บริการสาธารณะเป็นคำที่กว้างกว่า และครอบคลุมถึงบริการต่างๆที่ไม่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วย แต่รัฐให้ความสำคัญและจัดว่าเป็นผลประโยชน์ส่วนรวม
คำว่า “บริการเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมทางเศรษฐกิจ” (Service d’intérêt économique général) ได้แก่บริการทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น การพลังงาน การขนส่ง การไปรษณีย์ การสื่อสารและโทรคมนาคม เป็นต้น
คำว่า “ข้อบังคับของบริการสาธารณะ” (Obligations de service public) ในที่นี้ให้หมายถึงข้อบังคับต่างๆที่สหภาพยุโรป รัฐ หรือส่วนการปกครองท้องถิ่น กำหนดแก่ผู้ให้บริการสาธารณะ
คำว่า “รัฐวิสาหกิจ” (Entreprise publique) ในที่นี้ให้หมายถึงผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐ โดยในกฎหมายยุโรป รัฐวิสาหกิจก็เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการ เช่นเดียวกันกับบริษัทเอกชนทั่วไป โดยจะมีสิทธิและหน้าที่แบบเดียวกัน
ต่อไปจะได้กล่าวถึงรายละเีอียดของสาระสำคัญในสมุดปกขาวเกี่ยวกับการบริการสาธารณะ ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้คำจำกัดความ และเสนอแนวทางเกี่ยวกับการบริการสาธารณะแบบยุโรป โดยแบ่งเนื้อความเป็น 3 ส่วนตามลำดับ คือ - การแบ่งสรรหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการบริการสาธารณะระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิก - หลักการบริการสาธารณะตามแบบสหภาพยุโรป - แนวทางปฏิบัติใหม่และนโยบายที่เป็นไปในทางเดียวกัน
1. การแบ่งสรรหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการบริการสาธารณะระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิก
ถึงแม้ว่าหลักของการบริการสาธารณะของแต่ละประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปนั้นไม่เหมือนกันเสียทีเดียว
แต่ทุกประเทศเห็นไปในทางเดียวกันว่า
“บริการสาธารณะ”
เป็น
บริการส่วนรวมที่จัดให้กับทุกคน
(service universel)
ซึ่งจะต้องต่อเนื่อง
(continuité)
มีคุณภาพ
(Qualité)
เข้าถึงได้ ไม่แพงเกินไป
(Accessibilité financière)
และจะต้องคุ้มครองผู้ใช้บริการ
และผู้บริโภค (Protection des
usagers et des consommateurs)
การให้บริการสาธารณะ
เป็นสิ่งสำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งซึ่งจะนำสหภาพยุโรปไปสู่จุดมุ่งหมาย ซึ่งได้แก่
การรวมยุโรปหรือ “สังคมยุโรป”
(Société
européenne) (มีแนวความเห็นว่า
ปัจจุบัน ยุโรปยังไม่จัดว่าเป็น
“สังคม”
เดียว เป็นแต่เพียง “กลุ่มชน”
หรือ Communauté)
ที่กล่าวว่า
“บริการสาธารณะ”
เป็นสิ่งสำคัญเนื่องมาจาก ประการแรก
บริการสาธารณะเป็นหนึ่งในสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐจะต้องจัดให้กับพลเมืองของตน
ดังนั้น พลเมืองยุโรป (Citoyen
européen)
จะต้องรับการบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ และไม่แพงเกินไป อีกประการหนึ่ง
บริษัทเอกชนเองก็ควรมีสิทธิได้รับบริการสาธารณะที่จำเป็น ในราคาที่เหมาะสม
เพื่อรักษาอัตราการผลิต และความสามารถในการแข่งขันไว้
เพื่อเพิ่มพูนอำนาจทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป นอกจากนี้ สหภาพยุโรปก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงความต้องการเฉพาะ
พิเศษ ของ 10
ประเทศสมาชิกใหม่อีกด้วย ดังนั้น การจำกัดขอบเขต และการรับผิดชอบดูแลบริการสาธารณะ จะเป็นหน้าที่ของ สหภาพยุโรป รัฐ หรือผู้ใช้อำนาจรัฐในระดับต่างๆแล้วแต่กรณี โดยส่วนใหญ่ รัฐ และองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น เป็นผู้มีอำนาจในการให้คำจำกัดความ จัดการ ให้ทุนและความช่วยเหลือด้านการเงิน และควบคุมดูแลการจัดการบริการสาธารณะ โดยสหภาพยุโรปจะออกกฎ และแนวทางปฏิบัติสำหรับธุรกิจบางประเภท ซึ่งในขณะนี้ สหภาพยุโรปเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งองค์กรพิเศษขึ้นมาใหม่ เพื่อดูแลเรื่องบริการสาธารณะโดยเฉพาะ
2. หลักการบริการสาธารณะตามแบบสหภาพยุโรป ตามแนวทางวิจัยของคณะกรรมาธิการยุโรปได้สรุปความต้องการของผู้ที่ให้ความเห็นจากแบบสำรวจ(สมุดปกเขียว)เกี่ยวกับการบริการสาธารณะได้ว่าหลักบริการสาธารณะต้องมีลักษณะ 9 ลักษณะ ดังนี้ 2.1 ต้องตอบสนองประชาชนในความต้องการเกี่ยวกับบริการสาธารณะอย่างใกล้ชิด (proche) ประเทศสมาชิกต้องจัดการบริการสาธารณะเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างใกล้ชิด โดยสหภาพยุโรปจะมีบทบาทรองลงไปตามหลัก Principe de subsidiarité ดังนั้น การจัดการบริการสาธารณะยังเป็นอำนาจหน้าที่ของประเทศสมาชิก องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น และองค์กรต่างๆของประเทศสมาชิก อย่างไรก็ดีสหภาพยุโรปอาจออกกฏหรือแนวทางเกี่ยวกับกิจการบางกิจการที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสหภาพยุโรปได้
2.2 ต้องบรรลุต่อจุดมุ่งหมายของบริการสาธารณะ ถึงแม้กิจการบริการสาธารณะนั้นจะเป็นกิจการที่อยู่ในตลาดที่เปิดต่อการแข่งขันทางการค้า
ถึงแม้ว่า มาตรา 86 วรรค 2 ของสนธิสัญญาของสภหาพยุโรป กำหนดข้อยกเว้นให้ “บริการสาธารณะ” ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฏบางประการของสหภาพยุโรปในบางกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฏเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้าก็ตาม แต่คณะกรรมาธิการยุโรปก็เห็นว่า การเปิดตลาดภายในประเทศสมาชิกเพื่อการแข่งขันทางการค้า และการสร้างบริการสาธารณะที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม เป็นจุดมุ่งหมายที่ไม่ขัดแย้งกัน โดยการเปิดตลาดภายในจะทำให้บริการสาธารณะบางอย่างราคาถูกลง มีคุณภาพมากขึ้น และทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ดังนั้น เมื่อเปิดให้มีการแข่งขันบริการสาธารณะได้แล้วสิ่งที่รัฐจะต้องคำนึงและคอยควบคุมดูแลคือต้องให้บริการสาธารณะนั้นบรรลุต่อจุดมุ่งหมายของบริการนั้น ๆ ด้วย
2.3 ต้องให้กับทุกคน สหภาพยุโรปมีนโยบายส่งเสริมการจัดการบริการสาธารณะที่จำเป็นให้กับประชากรทุกคน รวมทั้งผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกล เพื่อพยายามสร้างความเท่าเทียมกัน ทั้งนี้สหภาพยุโรปจะเน้นให้ความช่วยเหลือในด้านโครงการสาธารณูปโภคที่มีคุณภาพ และปลอดภัยต่างๆ เช่น เครือข่ายการขนส่งระหว่างประเทศ การพลังงาน และการสื่อสารด้วยความเร็วสูง (Communication à large bande) เป็นต้น
2.4 ต้องมีคุณภาพและปลอดภัย บริการสาธารณะจะต้องมีคุณภาพ และปลอดภัยกับผู้บริโภค ผู้ใช้บริการ รวมถึงบุคคลอื่นๆที่มีบทบาทในการให้บริการ และบุคคลทั่วไป โดยผู้ให้บริการจะต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆด้วย เช่น การอนุรักษ์สภาพแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้บริการน้ำ และการกำจัดขยะ เป็นต้น
2.5 ต้องให้ความคุ้มครองผู้บริโภค และผู้ใช้บริการสาธารณะ การบริการสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริการสาธารณะระหว่างรัฐ จะต้องเปิดกว้างกับผู้บริโภคและผู้ใช้บริการทุกประเภท รวมถึงผู้มีรายได้น้อย โดยบริการจะต้องมีคุณภาพ ราคาไม่แพงเกินสมควร มีความปลอดภัย เชื่อถือได้ และต่อเนื่อง ผู้บริโภคและผู้ใช้บริการจะต้องมีทางเลือกและสามารถขอข้อมูลเกี่ยวกับผู้ผลิตและผู้จัดหา (Fournisseur) ได้ เพื่อความโปร่งใสของบริการต่างๆ ในการคุ้มครองผู้บริโภคและผู้ใช้บริการ จะต้องมีผู้ควบคุมที่เป็นอิสระ และมีอำนาจในการลงโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม นอกจากนี้ ผู้บริโภคและผู้ใช้บริการจะต้องสามารถมีส่วนร่วมในการประเมินผลบริการต่างๆด้วย
2.6 การติดตามและประเมินผลบริการสาธารณะ สหภาพยุโรปจะติดตาม และประเมินผลการบริการสาธารณะต่างๆที่อยู่ภายใต้กฏ หรือแนวทางที่สหภาพยุโรปกำหนด สำหรับบริการสาธารณะอื่นๆ สหภาพยุโรปอาจเข้ามามีบทบาทได้ตามที่เห็นสมควร การติดตามประเมินผลนั้นจะต้องทำทั้งด้านกฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยจะต้องคำนึงถึงลักษณะพิเศษของบริการต่างๆ และลักษณะพิเศษของรัฐแต่ละรัฐ และความแตกต่างระหว่างท้องถิ่น
2.7 ต้องหลากหลาย เนื่องจากความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ หรือแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน นอกจากนี้ บริการสาธารณะต่างๆยังมีลักษณะพิเศษต่างๆกัน ดังนั้น บริการสาธารณะจึงต้องมีความหลากหลาย
2.8 ต้องความโปร่งใส บริการสาธารณะจะต้องโปร่งใสในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การให้คำจำกัดความของบริการต่างๆ การจัดการ การเงิน การผลิต ไปจนถึงการควบคุมและการประเมินผล
2.9 ต้องมีความความมั่นคงและแน่นอนในแง่ของกฎหมาย (Sécurité juridique) ในปัจจุบัน กฏและแนวทางของสหภาพยุโรปที่ใช้กับบริการสาธารณะยังคลุมเครือ ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะกฎเกี่ยวกับ ความช่วยเหลือจากรัฐ (Aides d’Etat) การจัดซื้อจัดจ้าง (Marché public) และสัมปทาน (Concession) ทั้งนี้ สหภาพยุโรปจะปรับปรุงกฏต่างๆ เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางกฎหมาย
(กลับไปข้างบน) / (กลับไปหน้าแรกเรื่องอยากเล่า) / (กลับไปหน้าแรก)
[1] เรียบเรียงจาก Livre blanc จากเว็บไซต์ของสหภาพยุโรป และข้อมูลขาก Libération 13 พฤษภาคม 2004 หน้า 21, Le Monde 14 พฤษภาคม 2004 หน้า 16
|