ความสัมพันธ์ยุโรป-เอเชียตะวันตกเฉียงใต้

หน้าแรก เปิดตัว ฝรั่งเศส-พม่า๑ ฝรั่งเศส-พม่า๒ ฝรั่งเศส-พม่า๓ โสเภณีฯ

จดหมายเหตุความสัมพันธ์ยุโรป-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประสบการณ์โสเภณีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศตวรรษที่ ๑๙

 Petit BRAUDEL

 

                                หลังจากได้หยุดพักผ่อนในช่วงคริสต์มาส ปีใหม่ และตลอดมาจนถึงวันตรุษจีน เรียกได้ว่าหยุดกันลืมไปเลยทีเดียว ในที่สุด ผมก็ได้โอกาสกลับมาคุยเรื่องประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ฟังกันอีกคำรบหนึ่งนะครับ อย่างไร ผมต้องกล่าวคำขอโทษท่านผู้อ่านด้วยนะครับที่หายไปนานสักนิด นอกจากจะไปหาประเด็นปัญหาที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังแล้ว ผมยังใช้เวลาช่วงหยุดนี้ไปสั่งสมประสบการณ์ด้วย

                                เรื่องที่จะเสนอในครั้งนี้ ก็เป็นเรื่องประสบการณ์เหมือนกัน แต่ไม่ใช่ของผู้เขียน(โดยตรง)หากแต่เป็นประสบการณ์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ในบรรดาประสบการณ์ของภูมิภาคนี้ซึ่งมีมากมายและน่าสนใจต่อการศึกษา เรื่องของโสเภณีก็เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าศึกษาค้นคว้าไม่แพ้ประสบการณ์อื่นๆ สำหรับกรอบเวลานั้น เรากำหนดไว้ที่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ก็เพราะว่า เป็นช่วงเวลาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งทางด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ทั้งมีสาเหตุมาจากภายในสังคมเองและการติดต่อปรับรับทางวัฒนธรรมกับโลกตะวันตก ซึ่งมียุโรปเป็นหัวหอก และโลกตะวันออก โดยเฉพาะจีน

                                เรื่องโสเภณีมีความน่าสนใจทั้งในตัวเองและในส่วนที่สัมพันธ์กับสังคมและวัฒนธรรม ดังนั้นผู้เขียนจึงขอแยกเขียนเรื่องนี้เป็นตอนๆ เพื่อจะได้มีโอกาสพิจารณาเรื่องนี้ให้รอบด้านและลึกซึ้งมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

ƒ‚ƒƒƒ?  ?ƒƒƒ‚ƒ

 

ตอนที่ ๑ โสเภณีปริทรรศน์

                                สำหรับตอนที่หนึ่ง เราจะมองเรื่องทั่วๆไปของโสเภณีรวมทั้งบรรยากาศของเรื่องนี้ในดินแดนต่างๆ ว่ามีความเป็นมาอย่างไรกันบ้างก่อนที่เราจะได้เข้าไปดูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใกล้ๆ

                                ก่อนที่จะถกเถียงกันไปมากขึ้นกว่านี้ เรามาหาคำจำกัดความเสียก่อนว่า “โสเภณี” คืออย่างไร

คำ กับ ที่มาของความ

                                ในพจนานุกรมฝรั่งเศส Petit Robert ให้คำอธิบายของคำ Prostituer ว่าเป็นคำกริยาที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน จากคำว่า ‘Pro’ ซึ่งหมายถึง ‘ด้านหน้า ข้างหน้า หรือต่อหน้า’ และคำว่า ‘Statuere’ หมายถึง ‘วาง หรือ ตั้ง’ เมื่อประสมรากคำแล้วจะให้ความหมายว่า “แสดงหรือเปิดเผยต่อหน้าหรือในที่สาธารณ” ส่วนความหมายที่นำมาใช้ในบริบทเป็นครั้งแรก ปรากฏขึ้นในปีคริสต์ศักราช ๑๓๖๑ ในความหมายที่ว่า “ทำให้เสื่อมทรามลง ทำให้ตกต่ำลง ทำให้เสียเกียรติ ทำให้ถูกดูหมิ่นดูแคลน” ตัวอย่างเช่น งานเขียนของเขาดูไร้ค่า ก็เพราะเขาเขียนเพียงเพื่อความปรารถนาอยากได้สิ่งตอบแทนเท่านั้น ประโยคลักษณะนี้อาจทำให้เราคิดถึง นักวิชาการขายตัวที่เขียนงานออกมาสนับสนุนผู้มีอิทธิพลระดับชาติเพื่อหวังให้ได้รับอนุมัติโครงการวิจัย ในบ้านเราดูจะมีน้อย เพราะนักวิชาการส่วนใหญ่กินอุดมการณ์กันจนผอมทั้งนั้น

                                ทีนี้ มาถึงการใช้คำนี้ในวัฒนธรรมฝรั่งเศสเพื่อแสดงความหมายว่า “ปล่อยตนให้ใครอื่นผู้มีความกระหายใคร่กามในเพศรสเขาได้เชยชมด้วยหวังผลประโยชน์ตอบแทน” นั้น ปรากฏว่ามีใช้ครั้งแรกในคริสต์ศักราช ๑๕๓๐ แต่ในขณะที่คำนามแสดงการกระทำ ‘Prostitution’ ปรากฏขึ้นแล้วในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ ในความหมายว่า “ความไร้ยางอาย หรือ การประพฤติปฏิบัติตนต่อความต้องการทางเพศอย่างเกินงามและน่าประณาม”  ดูแล้วอาจตอบในใจได้เลาๆ ว่าบรรทัดฐานทางศาสนาและสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องในการตัดสินพฤติกรรมของการกระทำประเภทนี้อยู่ไม่น้อย

                                หากลองหันมาดูว่า ผู้ที่ประพฤติตนเช่นนี้ มีคำใช้เรียกเกิดขึ้นเมื่อใด พจนานุกรมฝรั่งเศส Petit Robert เล่มเดิมของเราระบุว่า ปีคริสต์ศักราช ๑๕๙๖ คำว่า ‘Prostituée’ ปรากฏขึ้นใช้ในหลักฐานลายลักษณ์ของฝรั่งเศส โดยหมายความถึง “สตรีผู้ยอมตนต่อการปฏิบัติตนสนองอารมณ์เพศให้กับผู้อื่นโดยให้เขาจ่าย (เงิน) ค่าตอบแทน” แต่ในขณะที่คำเรียกสำหรับ “บุรุษผู้ปฏิบัติตนลักษณะเดียวกันต่อบุรุษด้วยกันเอง” เกิดขึ้นในภายหลังนานมากถึงคริสต์ศักราช ๑๙๓๐

                                ความหมายของคำและลำดับเวลาที่เกิดขึ้นของคำมีนัยสำคัญในการตีความและการอธิบายโลกทัศน์และลักษณะทางสังคมของฝรั่งเศสที่มีต่อโสเภณีไม่น้อย ตามที่เราทราบกันแล้วว่าภาษาซึ่งเป็นดัชนีชี้ถึงสิ่งของ เหตุการณ์ และการกระทำของมนุษย์ สามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยัน “ความมีอยู่” ของโสเภณีในสังคมและรวมถึงทัศนคติของสังคมว่า อย่างน้อยเรื่องนี้ บุคคลผู้รู้หนังสือ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระ) ได้กล่าวถึงแล้วในศตวรรษที่ ๑๓ ยังขาดก็แต่เพียงตัวละครที่มาแสดงบทบาท แน่นอนคำสั่งสอนทางศาสนาที่มีลักษณะในการควบคุมความประพฤติของคนในสังคม ย่อมกล่าวถึงการกระทำอันไม่ควร ซึ่งอาจได้รับแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ตรงของสังคมที่อยู่หรือประสบการณ์อ้อมของสังคมอื่นที่ตนรู้จัก และแน่นอนอีกเช่นกันที่พฤติกรรมของอิสตรีเยี่ยงนี้เป็นที่ประณามหยามหมิ่นในสังคมที่ถือว่า “เคร่งครัด” ในศาสนา ผู้ใดที่กระทำการเสพสมกับผู้ที่ไม่ใช่คู่ครองตนถือเป็นบาป แต่สังคมในยุคนั้น คงไม่มีแต่เพียงผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์อย่างเดียวแน่ หรือแม้ผู้ที่นับถือเองก็อาจมีบ้างที่มัก “แหกกฎ” ด้วยเงื่อนไขความจำเป็นหลายประการ

                                เราคงไม่ลืมว่า พวกพระเยซูอิตเมื่อไปถึงไหนก็วิจารณ์สังคมที่นั่นโดยเอาบรรทัดฐานของยุโรปเป็นเกณฑ์ มัตเตโอ ริชชี (Matteo Ricci)  เยซูอิตเชื้อสายอิตาลี ผู้มรณภาพที่เมืองปักกิ่งในปีคริสต์ศักราช ๑๖๑๐ หนึ่งในคณะผู้เผยแผ่ศาสนาคริสต์แรกๆในจีนช่วงทศวรรษ ๑๕๘๐  ถึงแม้จะเป็นผู้หนึ่งที่ชื่นชมอารยธรรมจีน ก็วิพากษ์วิจารณ์การมีสนมนับพันพร้อมด้วยเหล่าขันทีน้อยใหญ่ของจักรพรรดิจีนในพระราชวังต้องห้ามอย่างขบขัน และเปรียบเทียบความมักมากในกามของผู้ปกครองผู้มีอำนาจล้นฟ้ากับฮาเรมของสุลต่านในคาบสมุทรเปอร์เชีย

                                นี่อาจเป็นตังอย่างที่ทำให้เราอนุมานได้ว่า ถึงแม้สังคมฝรั่งเศสช่วงเหนือแม่น้ำลัวร์ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ จะยังไม่มีผู้แสดงบทเป็นโสเภณี แต่ประสบการณ์ของสตรีผู้พลีกายแลกกับเงินก็เป็นที่รับรู้ของสังคมนี้ว่ามีอยู่จริงและแน่นอนทัศนคติต่อเรื่องนี้เป็นไปในทางเสื่อมเสียศักดิ์ศรีและน่าละลาย แล้วคำถามหนึ่งก็เกิดขึ้น แล้วอะไรจะเป็นหลักฐานสนับสนุนสมมติฐานนี้   

                                คำเรียกผู้ปฏิบัติตนว่า “โสเภณี” คงน่าเป็นหลักฐานที่ดีกว่า คำกริยา “ขายบริการทางเพศ” ซึ่งปรากฏในเวลาใกล้เคียงกันคือประมาณคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖  ตัวละครโสเภณีของสังคมฝรั่งเศสมีคำเรียกขานชัดเจนอย่างน้อยก็ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖

แต่ความหมายที่ให้โดยพจนานุกรมไม่ได้กล่าวว่าโสเภณีเป็น “อาชีพ” ของผู้หญิงกลุ่มนี้ในช่วงเวลานั้นแต่อย่างใด ดังนั้น จึงเกิดคำถามขึ้นทันที ลักษณะของการ “เป็นโสเภณี” ในสังคมฝรั่งเศสช่วงเริ่มแรกเป็นอย่างไร เราอาจมองได้ว่า การเป็นโสเภณีในช่วงระยะแรกๆนี้ เป็นสิ่งที่ปฏิบัติชั่วครั้งชั่วคราว เป็นฤดูกาล หรือเป็น “อาชีพเสริม” หารายได้พิเศษในช่วงหมดฤดูกาลของอาชีพหลัก อย่างที่นิยมทำกันในปัจจุบัน มากกว่าที่จะตั้งเป็นสำนักงานขายบริการเป็นล่ำเป็นสันอย่างที่คิดก็หาไม่  เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ทำให้มองว่าโสเภณีสมัยนั้นน่าจะเป็นสตรีที่มีฐานะทางสังคมไม่สู้ดีนัก เดินทางไปขายบริการในต่างเมืองที่มีคนมากหน้าหลายตา ไม่เป็นที่รู้จัก เมื่อถึงฤดูการทำการเพาะปลูกก็กลับมาทำงานปกติ ซึ่งต่างกับบางกรณีในสังคมเมืองหลวงในประเทศต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ไทยที่วัยรุ่นบางคนยอมขายบริการทางเพศเพื่อให้ได้เงินมาจับจ่ายใช้สอยซื้อของใช้ฟุ่มเฟือย

                                จากคำนิยามข้างต้น ทำให้มองได้ว่าฮาเรมที่เต็มไปด้วยสตรีผู้เลอโฉมและมีความสามารถทางคนตรีและกวีนิพนธ์ไม่เข้าข่ายโสเภณี  เช่นเดียวกับราชสำนักจีน และวังของเจ้าผู้ปกครองต่างๆที่แวดล้อมด้วยนางสนมกำนัลในถวายงานพัด งานดนตรี ขับร้อง ฟ้อนรำ ถึงแม้ว่าบางคนจะมาจากที่การรับซื้อจากครอบครัวที่เป็นหนี้สินและยากไร้  แต่ในกรณีของนางโลมประจำหอขณิกาผู้ให้บริการพวกพ่อค้าและนักพเนจรก็คงปฏิเสธไม่ได้ พวกสัญจรเดินทางที่รอนแรมผ่านทะเลทรายและความทุรกันดานแห่งภูมิประเทศด้วยความเหนื่อยยาก ทั้งนี้ไม่นับรวมถึงอันตรายจากกลุ่มโจรที่คอยดักปล้นสะดม พอมาถึงโรงแรมที่พักก็หาความสำราญทั้ทางกายและทางใจทั้งจากอาหาร เสียงเพลง และหญิงสาว ถ้าอย่างนี้ก็เป็นอันเรียกได้เต็มปากว่า สาวเจ้าเธอมีอาชีพเป็นโสเภณีแน่นอน

                                เราอาจสรุปว่า การศึกษาในทางนิรุกติวิทยา (Etymology) จากตัวอย่างคำในภาษาฝรั่งเศสได้ให้ข้อสมมติฐานที่น่าสนใจในเรื่องการมีอยู่ของโสเภณีและการรับรู้ของสังคมฝรั่งเศส อาจทำให้เราแปลกใจว่า “โสเภณี” ที่ระบุกันว่าเป็นอาชีพหนึ่งที่เก่าแก่ที่สุดในโลกนั้น ด้วยประสบการณ์ของฝรั่งเศสเองก็เพิ่งมาปรากฏตัวจริงๆ ก็ช่วงที่อิทธิพลของคริสต์ศาสนาอ่อนตัวลงอย่างมากเท่านั้น ส่วนสตรีผู้ที่ยึดเป็นอาชีพ อาจเป็นได้ทั้งคนฝรั่งเศสเองหรือแม้แต่คนต่างชาติ และก็เป็นไปได้อีกเช่นกันที่เป็นสตรีฝรั่งเศสที่เดินทางไปขายบริการทางเพศในเมืองอื่นหรือเป็นสตรีชาวต่างชาติที่เดินทางอพยพเข้ามาในฝรั่งเศส  

อีกประการหนึ่ง เราต้องยอบรับว่า คริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ วิทยาศาสตร์ และการค้นคว้าภูมิปัญญาของกรีซและโรมโบราณตอบสนองความอยากรู้เรื่องโลกและจักรวาลมากกว่าการอธิบายทางศาสนา ในเวลาเดียวกัน ก็เป็นช่วงที่สังคมยุโรปขยายตัวมากขึ้น เพราะสามารถท่องเที่ยวรอบโลกได้ด้วยเรือเดินสมุทร ขยายอิทธิพลทางทะเลสร้างความร่ำรวยให้ตัวเองด้วยการค้ากับภูมิภาคต่างๆ แน่นอน ไม่ได้เพียงแต่ขายของเท่านั้น ยุโรปยังขายคนด้วย

อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานการพิจารณาคดีของศาลที่หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้เราสามารถยืนยันได้ว่ามี “อาชีพโสเภณี” ในฝรั่งเศส โดยเฉพาะในแคว้นโพวองซ์ อย่างน้อยตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๗

 

ประสบการณ์โสเภณีของยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙

                                ความก้าวหน้าทางอุสาหกรรมของยุโรปตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นมา ทำให้สังคมยุโรปขยายตัวอย่างมากและรวดเร็ว ประชากรเมืองของยุโรปเพิ่มจากประมาณ ๑๙ ล้านคนในปี ค.ศ. ๑๘๐๐ เป็น ๑๓๐ ล้านคนโดยประมาณในปี ค.ศ. ๑๙๑๐ นั่นหมายถึง อัตราการเพิ่มในแต่ละปีที่สูงถึง 1.8 % [1] เครื่องจักรต่างๆและการสแวงหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ได้เข้ามาแทนที่แรงงานคนในการเกษตร เมืองใหญ่เริ่มต้องการกำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมส่งออก เราพบการอพยพย้ายถิ่นของชาวชนบทเข้าเมืองเป็นจำนวนมากในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ นี้

                                เป็นที่แน่นอนว่า เมื่อชุมชนเมืองขยายตัว การมากหน้าหลายตา เมืองที่มีแต่คนรู้จักกันตั้งแต่หัวถนนจนถึงท้ายตลาดก็ต้องยอมรับสภาพของความแปลกหน้าของคนที่พบเห็นในเมือง ประชาชนชาวเมือง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่เริ่มเคยชินกับการทำงานเช้าเย็นและหาเวลาพักผ่อนย่อนใจในยามพลบค่ำ เด็กหนุ่มวัยแรงงานที่ทิ้งบ้านมาหางานทำในเมืองก็หาความสำราญกับสุราและนารีที่ตนพอจะมีกำลังทรัพย์จับจ่ายใช้สอยหามาได้เพื่อลดความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา

                                ปารีสในช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ มีประชากรหญิงมากกว่าชาย ในปี ค.ศ. ๑๘๑๗ มีประชากรชายต่อประชากรหญิงในอัตราส่วน ๑๐๐ ต่อ ๑๑๕ หลังจากนั้นจำนวนประชากรเพศหญิงก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับประชากรเพศชายจนถึงปี ค.ศ. ๑๘๕๑ อันเนื่องมาจากการอพยพย้ายถิ่นเข้ามาทำงานของแรงงานผู้ชาย ในปี ค.ศ. ๑๘๓๖ มีประชากรชายต่อประชากรหญิงในอัตราส่วน ๑๐๐ ต่อ ๙๐ ในช่วงอายุ ๓๐-๔๐ ปี เมื่อผู้หญิงมีจำนวนน้อยก็ยิ่งมีค่า และช่วงระยะเวลานี้เองที่ อาชีพโสเภณีในปารีสพัฒนาขึ้นอย่างมาก[2]

                                แหล่งพำนักและที่ทำการของโสเภณีฝรั่งเศสไม่ใช่ตามท้องถนนอันเป็นที่นิยมอย่างเช่นในปัจจุบัน แต่เหล่านางกลางเมืองให้บริการในสำนักนางโลมที่มีผู้จัดการเป็นหลักแหล่ง ในปี ค.ศ. ๑๘๗๘ บ้านสำราญที่ฝรั่งเศสเรียกว่า Maison close หรือ Maison de passe หรือ Maison de tolérance หรือคำเรียกที่หยาบที่สุดว่า Bordel ซึ่งอาจจะเทียบกับคำว่า “ซ่อง” ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ขายบริการทางเพศทั้งสิ้นนั้น มีจำนวนมากทั่วไปทั้งฝรั่งเศสโดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆ เช่น ปารีส และมาร์แซย ซึ่งมีไม่น้อยกว่า ๑๒๕ แห่ง ในขณะที่เมืองลิยงและบอร์โดซ์มีประมาณ ๕๐ แห่ง[3] นอกจากนี้ยังหาพบได้ที่เมืองน็องส์ น็องซี และกระจายตามเมืองอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ลีล ตูลูส เป็นต้น แต่ที่ทำการของโสเภณีเหล่านี้ต้องถูกสั่งปิดและถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายตั้งแต่วันที่ ๑๓ เมษายน ๑๙๔๖ และนี่คงอธิบายได้ว่า ทำไมถ้าอยากพบสาวกลุ่มนี้ในปัจจุบัน ก็ไปหากันได้ตามสวนสาธารณะ หรือแม้กระทั่งตามท้องถนนในยามค่ำคืน

                                ในขณะที่กรุงลอนดอน ในปี ค.ศ. ๑๘๕๘ มีจำนวนโสเภณีอย่างน้อย ๗,๑๙๔ คน[4] นักเขียนชาวอังกฤษ Charlotte BRONTE บรรยายภาพของโสเภณีในนวนิยายอันลือชื่อของเธอ “Jane Eyre” ว่า ส่วนใหญ่ก็เป็นสาวต่างจังหวัดที่ไร้เดียงสา เข้ามาทำงานในเมืองแล้วก็ถูกบังคับให้ขายตัว แน่นอนเธอพวกนี้มาจากครอบครัวระดับล่างที่ขัดสน แต่ก็ยังมีหญิงสาวที่เป็นผู้มีฐานะปานกลาง แต่ประกอบอาชีพนี้เพราะต้องการหาเงินวิธีง่ายๆ ได้มาก และรวดเร็วด้วยความต้องการจะเอาไปซื้อของใช้ฟุ่มเฟือยเพื่อให้ตนมีหน้ามีตาทัดเทียมสังคมของกลุ่มเจ้าของกิจการ หรือเศรษฐีใหม่ทั้งหลาย (ดูคล้ายๆ กับเด็กวัยรุ่นของไทยเราปัจจุบัน)

                                เหตุการณ์คงไม่ต่างกับปารีสนัก มีคนกล่าวว่า การเป็นโสเภณีในยุคนี้ก็ไม่ผิดอะไรกับการเป็นพระในยุคกลาง เพราะว่าเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้พวกเธอได้เลื่อนฐานะทางสังคมอย่างรวดเร็ว และถ้าได้แต่งงานกับพวกผู้มีอันจะกินในเมือง หรือที่เราเข้าใจ “ชนชั้นกระฎุมพี” ด้วยแล้ว ชะตาชีวิตของเธอก็จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

                                สรุปว่า คริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ของยุโรป ได้ทำให้เราภาพของโสเภณีที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ และช่องว่างทางเศรษฐกิจของคนที่อยู่ในเมืองกับคนชนบท การอพยพย้ายถิ่นที่ทำงานของคนชนบทเข้าสู่เมืองใหญ่ และต้องประสบกับสังคมเมืองที่มีความสลับซับซ้อนทั้งทางโครงสร้างและความหลากหลายของกลุ่มคน ความอ่อนแอต่อโลกย่อมทำให้ผู้ที่แข็งแกร่งกว่าหาผลประโยชน์ ถึงแม้การเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโสเภณีจะถูกมองว่าเป็นหนทางแห่งโรคร้ายและความตายในสายตาของแพทย์ผู้ถ่ายทอดสารของพระเจ้าต่อคนไข้ แต่การมีโสเภณีก็ดูเหมือนเป็นทางออกหนึ่งที่เป็นที่ต้องการของเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยชายฉกรรจ์วัยแรงงาน

 

                                จากคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ มาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เราได้เห็นชีวิตที่เริ่มขึ้นและเจริญเติบโตของคนที่ประกอบอาชีพโสเภณีในสังคมยุโรป โดยเฉพาะฝรั่งเศส  เราได้เห็นภาพสังคมที่ไม่พึงประสงค์ปรากฏในคำสอนของพระในยุคกลาง จนกระทั่งสิ่งนั้นปฏิสนธิเป็นรูปร่างชัดเจนขึ้นมาจริงๆ ผ่านยุคสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการที่เน้นความสามารถของมนุษย์มากกว่าลิขิตแห่งพระเจ้า เรื่อยมาจนถึงยุคแห่งความเจริญทาวิทยาศาสตร์อันเป็นเครื่องมือสำคัญให้กับสังคมยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และในที่สุดอาชีพโสเภณีก็แตกยอดเป็นโสเภณีชายในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ และเราก็ได้เห็น “ความนิยม” ในโสเภณีเด็กเป็นเวลาต่อมาในสังคมบริโภค ในช่วงปลายของศตวรรษที่ผ่านมา

                                ครั้งหน้า ก่อนที่เราจะเข้าสู่เรื่องโสเภณีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราจะลองมาดูว่าโสเภณีในสังคมมุสลิมว่ามีความเป็นมาอย่างไร และมีลักษณะใด แน่นอน เรายังมุ่งไปที่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เป็นสำคัญ และแน่นอนที่สุด เมื่อสังคมมุสลิมตกอยู่ในอิทธิพลทางการเมืองของตะวันตก โสเภณีจะถูกจัดให้อยู่ในส่วนใดของสังคมที่เรียกว่า ... อาณานิคม

 

ƒ‚ƒƒƒ?  ?ƒƒƒ‚ƒ

 

 

               

(กลับไปข้างบน) / (กลับไปหน้าแรก)


 

[1] Jean-Luc PINOL, Le monde des villes au XIXe siècle, Paris, Hachette Supérieur, Col. Carré-Histoire, 1991, p. 3.

[2] Bernard MARCHAND, Paris, histoire d’une ville (XIXe – XXe siècle), Paris, Seuil, Col. Points-Histoire, p. 12.

[3] Maurice AGULHON, sous la direction de, La ville de l’âge industriel, Paris, Seuil, Col. Points-Histoire, p. 318.

 

 

(กลับไปข้างบน) / (กลับไปหน้าแรก)