|
|||||||||||||
ดู TV
ฟังวิทยุ อ่าน นสพ. การ Set เพื่อพิมพ์ไทย โทรกลับไทย IRADIUM โทรกลับไทย Telerabais ที่ตั้งและแผนที่ Aix การเดินทางและตารางรถ ตารางรถประจำทางใน AIX ตารางรถไป Marseille และ Plan de campagne ตารางรถPays d'Aix ไป Plan สภาพอากาศประจำวัน
ที่
Aix-en-Provence
(กระทู้)การขอทุนเรียนที่ฝรั่งเศส
ที่พักอาศัย
การติดต่อที่จำเป็น ลิงค์เพื่อนบ้าน |
สิทธิการมีทนายความในคดีอาญาได้รับการรับรองตามกฎหมายตั้งแต่เริ่มคดีอาญาจนกระทั่งศาลตัดสินคดี วิธีพิจารณาความอาญาของไทยและฝรั่งเศสสามารถหาจุดร่วมได้ 3 ขั้นตอน เพื่อเป็นฐานในการวิเคราะห์สิทธิการมีทนายความในคดีอาญา คือการดำเนินคดีชั้นสอบสวน การไต่สวนมูลฟ้อง และการพิจารณาคดีในชั้นศาล
1. การดำเนินคดีชั้นสอบสวน ( lenquête de police ) ผู้ต้องหามีสิทธิได้รับการช่วยเหลือจากทนายความตั้งแต่ชั้นถูกควบคุมตัว (la garde à vue) ซึ่งกฎหมายไทยให้อำนาจตำรวจควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง เว้นแต่กรณีจำเป็นอาจควบคุมได้ไม่เกิน 3 วัน[1] ในขณะที่กฎหมายฝรั่งเศสให้อำนาจตำรวจควบคุมผู้ต้องหาได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง หากต้องการขยายระยะเวลาควบคุมอีก 24 ชั่วโมงต้องได้รับความเห็นชอบเป็นหนังสือระบุมูลเหตุของการขยายเวลาการควบคุมจากพนักงานอัยการ[2] นอกจากนี้ในความผิดบางฐานที่ร้ายแรงกฎหมายให้อำนาจตำรวจควบคุมตัวผู้ต้องหาได้อีก 48 ชั่วโมง กฎหมายทั้งสองประเทศรับรองสิทธิผู้ถูกควบคุมให้ได้รับการช่วยเหลือจากทนายความ โดยแบ่งการพิจารณาได้เป็นสองประเด็น คือ
1.1 การรับรองสิทธิการมีทนายความโดยกฎหมาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยไม่ได้วางหลักเกณฑ์ช่วงเวลาที่ผู้ถูกควบคุมตัวในชั้นตำรวจมีสิทธิพบทนายความ โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย มาตรา 7 ทวิ (1) บัญญัติแต่เพียงว่าผู้ต้องหามีสิทธิพบและปรึกษาทนายความสองต่อสอง จึงแปลความได้ว่าผู้ถูกควบคุมมีสิทธิพบและปรึกษาทนายความตั้งแต่ชั่วโมงแรกของการควบคุมตัว ในขณะที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฝรั่งเศสแบ่งแยกเป็นกรณีทั่วไป กับกรณีพิเศษ ในกรณีทั่วไปผู้ถูกควบคุมมีสิทธิพบทนายความตั้งแต่ชั่วโมงแรกของการควบคุมตัว[3] ส่วนในกรณีพิเศษ เช่น คดีที่ผู้ถูกควบคุมถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดร้ายแรง เช่นความผิดฐานองค์กรอาชญากรรม หรือก่อการร้าย เป็นต้น จะต้องรอให้ระยะเวลา 36 ชั่วโมงผ่านพ้นไปก่อนจึงจะมีสิทธิพบทนายความ ที่เป็นเช่นนี้เพราะกฎหมายฝรั่งเศสคงพิจารณาว่าความผิดบางฐานการปรากฏตัวของทนายความอาจทำให้การสอบสวนยุ่งยากและไม่สามารถดำเนินการได้ เมื่อชั่งน้ำหนักความรุนแรงของข้อหากับสิทธิของผู้ถูกควบคุมแล้ว กฎหมายคงเห็นสมควรที่จะให้ระยะเวลาช่วงหนึ่งกับตำรวจในการสอบสวนก่อนที่ผู้ถูกควบคุมจะมีสิทธิพบทนายความ
ประเด็นต่อมาที่น่าสนใจคือ เมื่อผู้ถูกควบคุมไม่อาจหาทนายได้อาจเป็นเพราะขาดแคลนทุนทรัพย์ กฎหมายทั้งสองประเทศให้รัฐต้องมีหน้าที่จัดหาทนายความให้โดยเร็ว โดยกฎหมายฝรั่งเศสกำหนดให้ตำรวจต้องจัดหาทนายความให้ผู้ถูกควบคุมตัวเมื่อผู้ถูกควบคุมตัวไม่มีความสามารถในการหาทนายความหรือทนายความของตนไม่สามารถติดต่อได้ แต่อย่างไรก็ตาม แนวของการตีความกฎหมายฝรั่งเศสถือว่า ตำรวจมีหน้าที่เพียงวิธีการแต่ไม่มีหน้าที่ที่จะรับรองความสำเร็จในการจัดหาทนายความ[4] (une obligation de moyen et non de résultat ) กล่าวคือ ในคดีที่ตำรวจได้ใช้ความพยายามอย่างที่สุดแล้วในการติดต่อทนายความที่ทางหัวหน้าสภาทนายความจังหวัด ( bâtonnier ) ได้ให้หมายเลขติดต่อไว้ แต่ทนายความทั้งหมดไม่รับโทรศัพท์ของตำรวจ ตำรวจจึงควบคุมและสอบสวนไปโดยไม่ตั้งทนายความให้ผู้ถูกควบคุม ศาลฏีกาฝรั่งเศสถือว่าการควบคุมและการสอบสวนไม่เสียไป [5] ในเรื่องนี้ศาลคงวางหลักโดยดูเจตนาของตำรวจเป็นหลักว่าได้ใช้ความพยายามในการปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าได้ใช้ความพยายามเต็มที่แต่ไม่บรรลุผล ก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำอันไม่ชอบ แต่แน่นอนที่ว่าหากตำรวจไม่ใช่ความพยายามเลย กล่าวคือจงใจไม่ตั้งทนายความให้ผู้ต้องหาถือว่าเป็นการกระทำอันมิชอบ จะต้องถูกแทรกแซงด้วยการยกเลิกเพิกถอนคำให้การทั้งหมดในชั้นสอบสวน[6]
ส่วนประเทศไทยนั้นมีปัญหาที่น่าคิดสองประเด็นคือ ประการที่หนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 242 บัญญัติว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญามีสิทธิได้รับการช่วยเหลือจากรัฐด้วยการจัดหาทนายความให้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีที่ผู้ถูกควบคุมตัวไม่อาจหาทนายความได้ รัฐต้องตั้งทนายความให้ผู้ถูกควบคุมตัวโดยเร็ว ถึงขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติให้รัฐต้องตั้งทนายความให้ผู้ต้องหาและผู้ถูกควบคุม มีแต่กฎหมายกำหนดให้รัฐต้องตั้งทนายความให้จำเลย[7] และผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี[8] มีปัญหาว่าผู้ต้องหาและผู้ถูกควบคุมในชั้นสอบสวนที่อายุตั้งแต่ 18 ปีเป็นต้นไปมีสิทธิเรียกร้องให้รัฐตั้งทนายความให้หรือไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ คำว่า ตามที่กฎหมายบัญญัติ ในมาตรา 242 รัฐธรรมนูญมีความหมายเป็นเงื่อนไขแห่งสิทธิที่ต้องมีการบัญญัติกฎหมายถึงจะมีสิทธิ หรือเป็นเพียงหลักเกณฑ์การใช้สิทธิที่ถือว่าแม้จะไม่มีกฎหมายบัญญัติหลักเกณฑ์นี้ไว้ก็ถือได้ว่าผู้ต้องหาและผู้ถูกควบคุมย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้รัฐตั้งทนายความให้ตามรัฐธรรมนูญ ประการที่สอง หากในอนาคตมีกฎหมายบัญญัติว่ารัฐต้องตั้งทนายความให้ผู้ถูกควบคุมทันที ปัญหาคงต้องเกิดขึ้นว่ากรณีนี้ความสามารถของรัฐจะเพียงพอต่อการตั้งทนายความให้ผู้ต้องหาหรือผู้ถูกควบคุมชั้นสอบสวนทุกคนหรือไม่ และถ้าตำรวจไม่ยอมตั้งทนายความให้ ผลของการสอบสวนจะเสียไปหรือไม่ คำให้การของผู้ต้องหาจะรับฟังได้หรือไม่ ยังเป็นปัญหาที่น่าคิดซึ่งในฝรั่งเศสได้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นแล้ว และน่าจะเป็นตัวอย่างให้ประเทศไทยในการตีความกฎหมายดังกล่าว
ในเรื่องความลับของการสนทนาระหว่างผู้ถูกควบคุมกับทนายความก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ทั้งสองประเทศได้ให้การรับรอง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไทย มาตรา 7 ทวิ (1) ได้รับรองให้ผู้ต้องหามีสิทธิพบทนายสองต่อสอง เช่นเดียวกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฝรั่งเศส มาตรา 63-4 วรรคสาม ได้บัญญัติให้การพูดคุยระหว่างทนายความกับผู้ถูกควบคุมตัวต้องเป็นความลับ เมื่อพิจารณาถึงการรับรองสิทธิการมีทนายความตามกฎหมายทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว ประเด็นสำคัญต่อไปคือ เมื่อผู้ถูกควบคุมในชั้นสอบสวนมีทนายความเข้าช่วยเหลือแล้ว ผู้ถูกควบคุมจะได้รับการช่วยเหลือจากทนายความในเรื่องใดได้บ้าง
ทนายความสามารถเข้าช่วยเหลือผู้ถูกควบคุมตัวได้สองประการ ประการที่หนึ่ง ทนายความสามารถแจ้งให้ผู้ถูกควบคุมทราบว่าผู้ถูกควบคุมมีสิทธิที่จะไม่พูดและไม่ให้การใดๆเลยก็ได้ ( le droit au silence ) หลักเรื่องสิทธิที่จะไม่ให้การใดๆนี้เป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองเป็นสากลทั้งในฝรั่งเศสและประเทศไทย ในประเทศไทยมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ผู้ต้องหาไม่ให้การไม่ถือว่าเป็นการกระทำความผิดอาญา[9] รวมทั้งการที่ผู้ต้องหาให้การเท็จเพื่อให้ตนเองพ้นผิดก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ [10] นอกจากนี้การบังคับ ข่มขู่ผู้ต้องหาให้ผู้ต้องหาให้การก็เป็นการกระทำอันมิชอบ ซึ่งถ้อยคำดังกล่าวก็ไม่อาจรับฟังได้ในชั้นศาล[11] ดังนั้นทนายความแสดงบทบาทสำคัญยิ่งในการแจ้งสิทธิดังกล่าวให้กับผู้ถูกควบคุมหรือผู้ต้องหาได้รับทราบ ประการที่สอง ในระหว่างการควบคุมตัวโดยตำรวจ อาจมีการกระทำบางอย่างโดยมิชอบที่กระทบกระเทือนสิทธิผู้ถูกควบคุม ทนายความสามารถเข้าช่วยเหลือผู้ถูกควบคุมได้โดยการดำเนินการเรียกร้องสิทธิต่อองค์กรที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่นในประเทศไทยถ้าตำรวจควบคุมตัวผู้ต้องหาเกินกำหนดเวลาถือว่าเป็นการกระทำอันมิชอบ รัฐธรรมนูญมาตรา 240 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 90 ได้วางหลักให้ผู้มีส่วนได้เสียเช่นญาติผู้ต้องหามีสิทธิร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งปล่อยตัวผู้ต้องหาได้ ส่วนในประเทศฝรั่งเศส ถ้าผู้ต้องหาไม่ได้รับการส่งฟ้องศาลภายในระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันสิ้นสุดการควบคุม ผู้ต้องหามีสิทธิแจ้งพนักงานอัยการเพื่อให้พนักงานอัยการให้คำตอบแก่ตนว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี มาตรการนี้ถูกเรียกว่า les suites procédurales de la garde à vue[12] ซึ่งสิทธิดังกล่าวนี้ทนายความมีบทบาทสำคัญในการแจ้งสิทธิและดำเนินการแทนผู้ต้องหา
แม้กฎหมายทั้งสองประเทศจะรับรองสิทธิการมีทนายความของผู้ถูกควบคุมตัวชั้นสอบสวน แต่อย่างไรก็ตามก็ปรากฏข้อจำกัดสิทธิบางประการ คือ
ข้อจำกัดสิทธิประการแรกเป็นเรื่องข้อจำกัดที่เกี่ยวกับระยะเวลาการพบทนายความ กฎหมายไทยไม่ได้บัญญัติระยะเวลาที่ผู้ถูกควบคุมมีสิทธิพบทนายความไว้ ทางปฏิบัติตำรวจคงอนุญาตให้ทนายความเข้าพบผู้ถูกควบคุมในเวลาอันสมควรเสมือนหนึ่งว่าทนายความเป็นญาติผู้ถูกควบคุม ส่วนในฝรั่งเศสประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 63-4 วรรค 4 ได้จำกัดให้ทนายความเข้าพบผู้ถูกควบคุมตัวได้เพียง 30 นาที
ข้อจำกัดสิทธิประการที่สองคือ ข้อจำกัดในเรื่องการดูสำนวนการสอบสวนของตำรวจ กฎหมายไทยไม่อนุญาตให้ทนายความของผู้ถูกควบคุมเข้าถึงเอกสารการสอบสวนของตำรวจ เช่นเดียวกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 63-4 ได้บัญญัติห้ามมิให้ทนายความของผู้ถูกควบคุมชั้นสอบสวนเข้าถึงสำนวนการสอบสวน
ข้อจำกัดสิทธิประการที่สุดท้าย คือข้อจำกัดในการเข้าช่วยเหลือผู้ต้องหาในการสอบปากคำ ข้อจำกัดนี้ดูเหมือนจะเป็นข้อจำกัดของประเทศฝรั่งเศสเท่านั้น เพราะกฎหมายฝรั่งเศสไม่อนุญาตให้ทนายความเข้าช่วยผู้ต้องหาในการสอบปากคำ ในขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 241 วรรค 2 บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าผู้ต้องหาอาจให้ทนายความเข้าฟังการสอบปากคำได้ จะเห็นได้ว่าในเรื่องนี้กฎหมายไทยมีพัฒนาการเรื่องการคุ้มครองสิทธิประชาชนได้รวดเร็วกว่ากฎหมายฝรั่งเศส
1.2 การละเมิดสิทธิการมีทนายความ กฎหมายทั้งสองประเทศได้บัญญัติรับรองสิทธิการมีทนายความ ของผู้ถูกควบคุมชั้นสอบสวน หากเจ้าหน้าที่รัฐเช่นตำรวจละเมิดสิทธิดังกล่าว เช่นไม่จัดหาทนายความให้ผู้ถูกควบคุมหรือผู้ต้องหา ผลจะเป็นเช่นไร ในเรื่องดังกล่าว กฎหมายไทยยังไม่ปรากฏเป็นคดีในชั้นศาล อาจเป็นเพราะผู้ถูกควบคุมหรือผู้ต้องหาไม่ได้รู้ถึงสิทธิของตนเองตามกฎหมาย แต่ในฝรั่งเศสกลับปรากฏเป็นคดีขึ้นศาลกันเป็นจำนวนมาก และศาลฎีกาฝรั่งเศสได้วางหลักไว้หลายเรื่องซึ่งอาจเป็นแบบอย่างการตีความกฎหมายของไทยได้ในอนาคต ประการแรก การที่ตำรวจไม่ตั้งทนายความให้ผู้ถูกควบคุมตัวชั้นสอบสวน ศาลจำเป็นต้องประกาศเพิกถอนการควบคุมตัวและการสอบปากคำ (nullité) กล่าวคือการควบคุมตัวและการสอบปากคำนั้นเสียไป[13] เพราะถือว่าเป็นการกระทำของตำรวจที่กระทบกระเทือนสิทธิการต่อสู้คดี ( le droit de la défense) ประการที่สอง ผลของการสอบปากคำที่เสียไปทำให้พนักงานอัยการไม่อาจอ้างถ้อยคำของผู้ต้องหาเช่นคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนมาเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลได้ ประการสุดท้าย แม้ศาลจะประกาศความเสียไปของการควบคุมตัวและการสอบปากคำ แต่การเสียไปดังกล่าวไม่กระทบกระเทือนถึงการสอบสวน การไต่สวนมูลฟ้อง การฟ้องคดีและการพิจารณาคดี เพราะการเสียไปของการควบคุมตัวและการสอบปากคำผู้ต้องหาไม่มีความเกี่ยวพันกับวิธีพิจารณาความที่ต่อเนื่องมาโดยชอบ [14] หลังจากการดำเนินคดีชั้นสอบสวน ก็เข้าสู่การดำเนินคดีชั้นไต่สวนมูลฟ้องซึ่งจะได้กล่าวถึงในหัวข้อถัดไป
2. การไต่สวนมูลฟ้อง ( linstruction préparatoire) ฝรั่งเศสถือเป็นขั้นตอนการดำเนินคดีที่สำคัญเพราะเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดและตัดสินในเบื้องต้นว่ามีมูลพอที่จะส่งฟ้องศาลหรือไม่ การพิจารณาคดีในชั้นไต่สวนมูลฟ้องนี้ ระบบฝรั่งเศสใช้ระบบไต่สวน (inquisitoire) กล่าวคือผู้พิพากษาศาลไต่สวนจะเข้ามามีบทบาทในการค้นหาความจริงและรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด คดีความผิดฐานcrime (โทษหนัก) การไต่สวนมูลฟ้องเป็นเรื่องบังคับ แม้อัยการจะรวบรวมพยานหลักฐานอย่างดีแล้วก็ต้องส่งศาลไต่สวนเสมอ ส่วนคดี délit (โทษกลาง) อัยการจะส่งให้ศาลไต่สวนมูลฟ้องหรือไม่ก็ได้ ส่วนคดี contravention (ลหุโทษ)โดยหลักแล้วไม่ต้องมีการไต่สวนมูลฟ้อง เมื่อเปรียบเทียบกับระบบการไต่สวนมูลฟ้องในประเทศไทยแล้วจะพบว่าทางปฏิบัติวิธีพิจารณาความอาญาของไทยจำกัดการไต่สวนมูลฟ้องไว้เฉพาะกรณีที่ผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาต่อศาลโดยตรงเท่านั้น หากอัยการฟ้องศาลไม่ว่าจะเป็นคดีใดก็ไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อน นอกจากนี้การไต่สวนมูลฟ้องของไทยมีลักษณะพิเศษอีกสองประการคือ ประการที่หนึ่ง การไต่สวนมูลฟ้องของไทยเป็นเรื่องเฉพาะระหว่างผู้เสียหายกับศาลเท่านั้น ผู้ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นจำเลยไม่ต้องมาศาลก็ได้ ประการที่สอง ผู้ที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นจำเลยยังไม่มีฐานะเป็นจำเลยจนกว่าศาลจะมีคำสั่งประทับรับฟ้อง
ในกฎหมายไทยแม้ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นจำเลยชั้นไต่สวนมูลฟ้องยังไม่มีฐานะเป็นจำเลย แต่กฎหมายก็อนุญาตให้ตั้งทนายความเข้าแก้ต่างได้ ในขณะที่กฎหมายฝรั่งเศสถือว่าผู้เป็นจำเลยชั้นไต่สวนมูลฟ้อง (le mis en examen) มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือจากทนายความ และศาลจะต้องตั้งทนายความให้ผู้เป็นจำเลยชั้นไต่สวนมูลฟ้อง[15] นอกจากนี้ทนายความฝรั่งเศสยังแสดงบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือจำเลยชั้นไต่สวนมูลฟ้องหลายประการ เช่น 1.การแสดงข้อสังเกตบางอย่างให้ศาลรับทราบ 2.การเรียกร้องสิทธิต่างๆให้จำเลยชั้นไต่สวนมูลฟ้องเช่นสิทธิในการได้รับการตรวจร่างกายและจิตใจจากแพทย์[16] 3. การเรียกร้องให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวระหว่างการพิจารณา (la demande de mise en liberté) 4. การยกอายุความอาญาขึ้นให้ศาลมีคำสั่งยกฟ้อง
ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องนี้หากศาลไม่เคารพสิทธิการมีทนายความของจำเลย ศาลสูงต้องออกคำสั่งยกเลิกเพิกถอนการไต่สวนมูลฟ้อง ( La nullité de linstruction)[17] แต่บางกรณีศาลสูงไม่ออกคำสั่งยกเลิกเพิกถอนการไต่สวนมูลฟ้องหากเป็นการไม่เคารพหลักเกณฑ์เล็กๆน้อยและความเป็นจริงจำเลยชั้นไต่สวนมูลฟ้องก็มีทนายความช่วยเหลือตลอดการไต่สวนมูลฟ้องจึงไม่ถือว่ากระทบสิทธิของจำเลยถึงขนาดต้องยกเลิกการไต่สวนมูลฟ้อง [18] ส่วนในเรื่องผลของการยกเลิกการไต่สวนมูลฟ้องนั้นกฎหมายฝรั่งเศสกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์แผนกคดีอาญาที่จะพิจารณาว่าการยกเลิกเพิกถอนนั้นมีผลต่อการฟ้องคดีหรือไม่[19] และมีสิทธิสั่งให้ศาลไต่สวนอื่นดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องใหม่ได้ [20] เมื่อสิ้นสุดการไต่สวนมูลฟ้อง คดีก็ถูกส่งฟ้องต่อไปที่ชั้นศาล ซึ่งจะพิจารณาในหัวข้อถัดไป
3. การพิจารณาคดีในชั้นศาล ศาลที่ทำหน้าที่พิจารณาคดีอาญาในฝรั่งเศสแตกต่างจากศาลไทยมาก จึงขอสรุประบบศาลอาญาฝรั่งเศสเพื่อทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนที่จะพิจารณาถึงสิทธิการมีทนายความในชั้นศาล ศาลที่ทำหน้าที่พิจารณาคดีอาญาในฝรั่งเศสแบ่งเป็น 3 ชั้นคือศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และ ศาลฎีกา ส่วนในศาลชั้นต้นนั้นแบ่งแยกออกเป็น 3 ประเภทตามความรุนแรงของคดี Le tribunal de police เป็นศาลที่พิจารณาคดีลหุโทษ (contravention) คือมีแต่โทษปรับ เช่น คดีขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต คดีทำร้ายร่างกายเล็กน้อย ศาลที่ทำหน้าทีพิจารณาพิพากษาคือผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ผู้พิพากษานายเดียวเป็นองค์คณะ Le tribunal correctionnel เป็นศาลที่พิจารณาคดีโทษชั้นกลาง (délit) คือโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี เช่นความผิดฐานทำร้ายร่างกายโดยเจตนา ประมาทเป็นเหตุให้คนตาย เป็นต้น ผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่คือผู้พิพากษาศาลชั้นต้นองค์คณะ 3 นาย คำพิพากษาอุทธรณ์ได้ที่ศาลอุทธรณ์ La cour dassises ซึ่งพิจารณาคดีโทษหนัก ( crime) กล่าวคือโทษหนักที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปถึงโทษสูงสุด คือ จำคุกตลอดชีวิต[21] ผู้พิพากษาประกอบด้วยสองส่วนคือ ผู้พิพากษาอาชีพตำแหน่งเทียบเท่าผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ 3 นาย อีกส่วนหนึ่งคือ คณะลูกขุน (jury) ซึ่งเป็นประชาชนธรรมดา[22]อีก 9 หรือ 12 นาย ตามแล้วแต่จะเป็นการพิจารณาคดีชั้นต้นหรือชั้นอุทธรณ์ คำพิพากษาของ la cour dassises สามารถอุทธรณ์ได้ไปยัง la cour dassises อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็น la cour dassises ชั้นอุทธรณ์[23] และเมื่ออุทธรณ์แล้วสามารถคัดค้านได้อีกโดยการฎีกาไปที่ศาลฎีกา เมื่อพิจารณาถึงสิทธิการมีทนายความของจำเลยในชั้นศาลแล้ว สามารถแยกพิจารณาได้สองประเด็น
3.1 การรับรองสิทธิการมีทนายความของจำเลยในชั้นพิจารณาคดี ในกฎหมายไทยได้บัญญัติรับรองสิทธิการมีทนายความของจำเลยไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 173 และ มาตรา 134 ทวิ ส่วนกฎหมายฝรั่งเศสได้บัญญัติรับรองสิทธิการมีทนายไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 274 และ 393 วรรค 2 เป็นที่น่าสังเกตว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไทย มาตรา 173[24] ได้แบ่งแยกหลักเกณฑ์ของการรับรองสิทธิการมีทนายความโดยยึดประเภทของคดีเป็นหลัก กล่าวคือ ในคดีที่มีโทษประหารชีวิต ศาลต้องถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าจำเลยไม่มีทนายความ ศาลต้องตั้งทนายความให้จำเลยทันที ในคดีที่มีโทษจำคุก ศาลต้องถามจำเลยสองครั้ง คือจำเลยมีทนายความหรือไม่ ถ้าจำเลยไม่มีทนายความ ศาลต้องถามต่อว่าจำเลยต้องการทนายความหรือไม่ ถ้าจำเลยไม่มีและต้องการทนายความ ศาลต้องตั้งทนายความให้จำเลย ในคดีที่จำเลยอายุไม่เกิน 18 ปีในวันถูกฟ้องศาล ศาลต้องถามจำเลยสองครั้งเช่นกันว่า จำเลยมีทนายความหรือไม่ ถ้าจำเลยไม่มีทนายความ ศาลต้องถามต่อว่าจำเลยต้องการทนายความหรือไม่ ถ้าจำเลยไม่มีและต้องการทนายความ ศาลต้องตั้งทนายความให้จำเลย ในกรณีนี้มีข้อน่าสังเกตคือ หากเป็นกรณีที่ผู้ต้องหาที่อายุไม่เกิน 18 ปีในวันสอบปากคำผู้ต้องหา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ทวิ[25] ก็ได้บัญญัติให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาเรื่องทนายความเช่นกัน แต่พนักงานสอบสวนต้องถามผู้ต้องหาเพียงคำถามเดียวว่าผู้ต้องหามีทนายความหรือไม่ และถ้าพบว่าผู้ต้องหาที่อายุไม่เกิน 18 ปีไม่มีทนาย พนักงานสอบสวนต้องตั้งทนายความให้ทันที ในขณะที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 173 วรรค 2 บัญญัติให้ศาลถามจำเลยที่อายุไม่เกิน 18 ปีถึงสองคำถาม คือ มีทนายความหรือไม่ และ ต้องการทนายความหรือไม่ เป็นจริงที่ว่ามาตรา 134 ทวินั้นไม่ให้ผู้เยาว์ปฏิเสธสิทธิการมีทนายความเลย แต่มาตรา 173 เปิดโอกาสให้ผู้เยาว์ปฏิเสธสิทธิการมีทนายความได้ด้วยการตอบว่า ไม่ต้องการทนายความ ทำให้อาจคิดไปได้ว่ากฎหมายต้องการคุ้มครองผู้เยาว์อายุไม่เกิน 18 ปีในชั้นสอบสวนมากกว่าในชั้นศาล ซึ่งความจริงแล้วควรที่จะคุ้มครองผู้ที่อายุไม่เกิน 18 ปีในชั้นศาลให้มากกว่าหรือพอๆกับในชั้นสอบสวน เพราะการพิจารณาคดีในชั้นศาลย่อมมีความสำคัญมากกว่าในชั้นสอบสวน อย่างไรก็ดีจะเห็นได้ว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 นี้ได้ถูกแก้ไขเมื่อปี พ.ศ. 2539 ในขณะที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ทวิเพิ่งถูกเพิ่มเติมเข้ามาเมื่อ ปี พ.ศ. 2542 จึงเป็นไปได้ว่าที่ในอนาคตจะมีการแก้ไขมาตรา 173 ให้สอดคล้องกับมาตรา 134 ต่อไป
เมื่อกลับมาพิจารณาเรื่องการรับรองสิทธิการมีทนายความของจำเลยตามกฎหมายฝรั่งเศสจะพบว่ากฎหมายฝรั่งเศสแบ่งแยกการรับรองสิทธิดังกล่าวโดยยึดถือศาลที่พิจารณาคดีเป็นหลัก กล่าวคือ คดีใน La cour dassises ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฝรั่งเศส มาตรา 274 บัญญัติว่าก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลแจ้งให้จำเลยเลือกทนายความ และหากจำเลยไม่ยอมเลือกทนายความให้ศาลตั้งทนายความให้จำเลยทันที นอกจากนี้ในขณะพิจารณาคดีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฝรั่งเศส มาตรา 317 วรรค 1 ยังบัญญัติว่าการปรากฏตัวของทนายความในการพิจารณาคดีเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งหากทนายความที่ตั้งไว้ไม่มาศาล ศาลต้องตั้งทนายความใหม่ให้ทันที จะเห็นได้ว่ากฎหมายฝรั่งเศสได้รับรองสิทธิการมีทนายความของจำเลยในการพิจารณาคดีใน La cour dassises ถึงสองชั้น คดีใน Le tribunal correctionnel ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฝรั่งเศส มาตรา 393 วรรค 2 บัญญัติว่าให้พนักงานอัยการแจ้งต่อจำเลยว่าจำเลยมีสิทธิเลือกทนายความด้วยตนเองถ้าไม่เลือกศาลต้องตั้งทนายความให้จำเลย คดีใน Le tribunal de police แม้ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายฝรั่งเศสที่รับรองไว้ชัดแจ้งว่าศาลต้องตั้งทนายความให้จำเลยใน Le tribunal de police เพราะกฎหมายอนุญาตให้จำเลยต่อสู้คดีเองได้ในคดีลหุโทษ แต่หากจำเลยต้องการตั้งทนายความต่อสู้คดีก็อาจทำได้ และถ้าหากจำเลยไม่มีทุนทรัพย์พอจะจ้างทนายความ จำเลยก็สามารถร้องขอให้ศาลตั้งทนายความได้โดยอ้างบทบัญญัติแห่ง La convention européenne de sauvegarde des droits de lhomme et des libertés fondamentales มาตรา 6-3-c เรื่องวิธีพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (le procès équitable)
3.2 การละเมิดสิทธิการมีทนายความในชั้นพิจารณาคดี การละเมิดสิทธิการมีทนายความของจำเลยมีหลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่ชัดเจนที่สุดคือการที่ศาลไม่ตั้งทนายความให้จำเลยทั้งๆที่กฎหมายบังคับให้ต้องทำ ในเรื่องนี้กฎหมายฝรั่งเศสไม่ค่อยปรากฏเป็นคดีให้เห็นซึ่งอาจเป็นเพราะสองสาเหตุคือ ประการที่หนึ่งศาลฝรั่งเศสตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องดังกล่าวเพราะถือเป็นสิทธิในการต่อสู้คดี ( le droit de la défense) ซึ่งเป็นสิทธิสำคัญยิ่ง ประการที่สองแม้จะมีการละเมิดกฎหมายอยู่บ้าง แต่ศาลสูงฝรั่งเศสค่อนข้างเพิกถอนกระบวนพิจารณาอย่างลับๆ[26] ในขณะที่ประเทศไทยการละเมิดสิทธิการมีทนายความมีปรากฏให้เห็นหลายคดีมากในคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งบางคดีศาลฎีกาก็ยกกระบวนพิจารณาและย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ในขณะที่บางคดีศาลฎีกาก็ไม่ยกกระบวนพิจารณาโดยให้เหตุผลว่าไม่มีความจำเป็นต้องกระทำเช่นนั้นหรือเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบเป็นต้น
ในคดีที่ศาลยกกระบวนพิจารณาและย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่นั้น เช่น กรณีที่กฎหมายบังคับให้ศาลถามจำเลยเรื่องทนายความ แต่ศาลไม่ถามและไม่ตั้งทนายความให้จำเลยและพิจารณาคดีโดยที่จำเลยไม่มีทนายความ เช่นนี้ทำให้จำเลยเสียเปรียบ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าต้องเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบและต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นตั้งทนายความให้จำเลยและทำการสืบพยานใหม่[27] นอกจากนี้แม้ว่าศาลได้ถามจำเลยเรื่องทนายความและจำเลยได้ตั้งทนายความไว้แล้ว แต่ในวันสืบพยานทนายจำเลยไม่มาศาล เช่นนี้ถ้าเป็นคดีที่มีโทษประหารชีวิต ศาลต้องตั้งทนายความให้จำเลยทันที แต่ถ้าเป็นคดีที่มีโทษจำคุกหรือคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกิน 18 ปี ศาลต้องถามจำเลยว่าจำเลยต้องการทนายหรือไม่ ถ้าจำเลยต้องการทนายศาลต้องตั้งทนายความให้จำเลย ในกรณีนี้ถ้าทนายความของจำเลยไม่มาศาล และจำเลยได้ขอศาลในวันสืบพยานให้ตั้งทนายความให้ตน แต่ศาลปฏิเสธ ถือได้ว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาพิพากษายกและย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่[28] ในบางคดีศาลฎีกาเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องเพิกถอนกระบวนพิจารณา เช่น คดีที่ศาลชั้นต้นไม่ถามจำเลยเรื่องทนายความ แต่ในความเป็นจริงจำเลยมีทนายความมาช่วยเหลือตลอดการพิจารณา เช่นนี้ไม่มีความจำเป็นที่ต้องเพิกถอนกระบวนพิจารณา[29] แนวคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวของศาลฎีกาไทยสอดคล้องกับแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาฝรั่งเศสที่วางหลักว่าแม้ศาลชั้นต้นจะกระทำผิดพลาดในข้อกฎหมายเล็กๆน้อยๆ แต่จำเลยมีทนายความเข้าช่วยเหลือตลอดมา จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเพิกถอนกระบวนพิจารณา[30] นอกจากนั้นยังมีคดีที่ศาลได้สอบถามจำเลยเรื่องทนายความหลังจากที่ศาลได้ถามคำให้การจำเลยแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 173 แต่ต่อมาศาลได้ตั้งทนายให้จำเลยและจำเลยก็มีทนายช่วยเหลือตลอดการพิจารณา ศาลฎีกาถือว่ายังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะเพิกถอนกระบวนพิจารณานี้[31]
สิทธิการมีทนายความเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการพิจารณาคดีซึ่งประเทศไทยได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ส่วนในประเทศภาคพื้นยุโรปนั้นถือว่าสิทธิการมีทนายความเป็นส่วนหนึ่งของ วิธีพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ( procès équitable ) ตามมาตรา 6 แห่ง Convention européenne de sauvegarde des droits de lhomme et des libertés fondamentales ประเด็นเรื่องสิทธิการมีทนายความนั้นอาจสะท้อนผลสองด้าน กล่าวคือ ผลทางด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน หากรัฐหรือหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ หรือศาล ได้เคารพสิทธิการมีทนายความของจำเลยและปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องสิทธิการมีทนายความอาจถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือถ่วงความยุติธรรมโดยการยื่นอุทธรณ์และฎีกาในประเด็นดังกล่าวในทางเทคนิคทั้งๆที่จำเลยก็ได้รับการช่วยเหลือจากทนายความตลอดกระบวนพิจารณา ศาลยังคงมีบทบาทสำคัญในการรับรองและรักษาสิทธิการมีทนายความของผู้ถูกดำเนินคดีอาญาและป้องกันมิให้นำประเด็นดังกล่าวมาขัดขวางความยุติธรรมด้วยไปพร้อมๆกัน
(กลับไปข้างบน)/(กลับไปหน้าแรก) / (กลับไปสารบัญบทความ)
บรรณานุกรม เอกสารภาษาไทย Kanoeung LECHAI, La procédure pénal tome 1, 4ème édition, Bangkok : Université Thammasat, 1994.
Kietkajorn VAJANASAWATI, La procédure pénale, Bangkok ; Jirarat presse, 2001
Kittipong KITTIYARAK, La justice sur le chemin du changement, Bangkok : winyuchon, 1998.
Narong JAIHARN, Laide judiciaire au soupçonné et laccusé dans le procès pénal. Revue dans la conférence « laide judiciaire en Thaïlande », Bangkok : Thai Barrister, 2003.
Vichienne DIREK-UDOMSAK. La jurisprudence de la procédure pénale tome 2, Bangkok ; Saengjarn presse, 2000.
เอกสาร ภาษาฝรั่งเศส Audrey JURIENS, Lassistance de lavocat au cours de la procédure pénale, mémoire D.E.S.S. lutte contre la délinquance et les déviances, Aix-en-provence, 2001.
Gaëtan DI MARINO, Les nullités de linstruction préparatoire, thèse, Aix-en-provence, Tome 1, 1977.
Gaston STEFANI, Georges LEVASSEUR et Bernard BOULOC, Procédure pénale, 17e édition, Dalloz, 2000
Jean PRADEL, Procédure pénale, 10e édition, cujas, 2000.
Muriel GUERRIN, nullité de procédure, Rép. pén Dalloz, 2001.
Nations Unis, Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights, Instruments internationaux relatifs aux droits de lhomme ; Document de base faisant partie des rapports des Etats parties : Thaïlande. 07/10/96, 1996.
Raymond GUILLEN et Jean VINCENT, Lexique des termes juridiques, 13e édition Dalloz, 2001.
S. GUINCHARD et J. BUISSON, Procédure pénale, Litec, 2000.
(กลับไปข้างบน)/(กลับไปหน้าแรก) / (กลับไปสารบัญบทความ)
[1] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไทย มาตรา 87 [2] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฝรั่งเศส มาตรา 63 วรรคสอง [3] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฝรั่งเศส มาตรา 63-4 เพิ่งได้รับการแก้ไขโดยรัฐบัญญัติลงวันที่ 15 มิถุนายน 2000 ก่อนหน้ารัฐบัญญัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ผู้ถูกควบคุมตัวต้องรอให้ระยะเวลา 20 ชั่วโมงผ่านพ้นไปก่อนจึงจะมีสิทธิขอพบทนายความ การแก้ไขครั้งนี้เป็นการเพิ่มสิทธิของประชาชนฝรั่งเศสในขณะที่ประเทศไทยได้ให้สิทธิดังกล่าวมานานแล้ว [4] Circulaire Crim. 00-13 F1 du 4 décembre 2000 [5] คำพิพากษาศาลฎีกาฝรั่งเศสลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1996 [6] คำพิพากษาศาลฎีกาฝรั่งเศสลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2001 [7] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไทย มาตรา 173 [8] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไทย มาตรา 134 [9] คำพิพากษาศาลฎีกาไทยที่ 1093/2522 [10] คำพิพากษาศาลฎีกาไทยที่ 1093/2522 [11] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไทย มาตรา 135
[12] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความฝรั่งเศสมาตรา 77-2 และ 77-3 [13] คำพิพากษาศาลฎีกาฝรั่งเศสลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2001 [14] คำพิพากษาศาลฎีกาฝรั่งเศสลงวันที่ 26 มิถุนายน 2000, 29 กุมภาพันธ์ 2000 และ 22 มิถุนายน 2000 [15] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฝรั่งเศสมาตรา 114 วรรค 2 [16] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฝรั่งเศสมาตรา 81 วรรค 8 และ 9 [17] คำพิพากษาศาลฎีกาฝรั่งเศสลงวันที่ 22 มิถุนายน 1954 [18] คำพิพากษาศาลฎีกาฝรั่งเศสลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 1995, 11 มกราคม 1994 และที่ 15 พฤศจิกายน 1993 [19] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฝรั่งเศสมาตรา 206 วรรค 2 [20] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฝรั่งเศสมาตรา 206 วรรค 3 [21] ประเทศฝรั่งเศสยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว โทษสูงสุดจึงเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต [22] ลูกขุนคือประชาชนฝรั่งเศสที่อายุมากกว่า 23 ปี ที่ได้การเลือกมาจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หลักการมีลูกขุนนี้เช่นเดียวกับระบบ common law คือต้องการให้ตัวแทนประชาชนเป็นผู้ตัดสินโทษในคดีความผิดอาญา และต้องการความเป็นวิญญูชนของประชาชนในการพิจารณาคดีนอกเหนือจากมุมมองของผู้พิพากษาอาชีพ แต่อย่างไรก็ตามฝรั่งเศสใช้ระบบลูกขุนเฉพาะคดีโทษหนัก หรือ crime เท่านั้น [23] la cour dassises ชั้นอุทธรณ์นี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2000 ตามรัฐบัญญัติลงวันที่ 15 มิถุนายน 2000 ก่อนหน้านั้น la cour dassises ตัดสินอย่างไรแล้วให้ถือเสมือนว่าเป็นคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เลย ซึ่งจะใช้สิทธิคัดค้านได้โดยการยื่นฎีกาไปยังศาลฎีกาเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้ในสมัยก่อนเพราะคงพิจารณาว่าผู้พิพากษาที่พิจารณาเป็นผู้พิพากษาเทียบเท่าชั้นศาลอุทธรณ์นั่นเอง [24] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไทยมาตรา 173 วรรค 1 บัญญัติว่า ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้ มาตรา 173 วรรค 2 บัญญัติว่า ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก หรือในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้ [25] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ทวิ บัญญัติว่า ในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้ [26] Muriel GUERRIN, Nullité de procédure, Rép. pén. Dalloz, 2001, p.4 [27] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 336/2534, ที่ 9732/2539, ที่ 587/2542 และที่ 3971/2542 [28] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2067 / 2520 [29] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2064 / 2535 [30] อ้างแล้ว เชิงอรรถหมายเลข 18 [31] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 871 / 2509 และที่ 3017 / 2541
(กลับไปข้างบน)/(กลับไปหน้าแรก) / (กลับไปสารบัญบทความ)
|
โดย ปกป้อง ศรีสนิท