![]() |
|||||||||||||
|
|||||||||||||
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() สภาพอากาศประจำวัน ![]()
ที่
Aix-en-Provence
การติดต่อที่จำเป็น ลิงค์เพื่อนบ้าน |
โดย ปกป้อง ศรีสนิท
เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2546 รัฐบาลไทยได้ออกพระราชกำหนดเกี่ยวกับเรื่องการป้องกันการก่อการร้ายขึ้นสองฉบับ ฉบับแรกคือ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2546 มีสาระสำคัญคือการเพิ่มความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย มาตรา 135/1 ถึง มาตรา 135/4 ในประมวลกฎหมายอาญา พระราชกำหนดฉบับที่สอง คือ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2546 สาระสำคัญคือการเพิ่มความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญาให้เป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติฟอกเงิน หลังจากนั้นก็มีนักวิชาการออกมาคัดค้านร่างพระราชกำหนดดังกล่าวโดยเห็นว่ารัฐบาลไม่ควรออกกฎหมายป้องกันการก่อการร้ายในรูป พระราชกำหนด ด้วยเหตุผลโดยย่อสามประการ คือ ประการที่หนึ่ง คณะรัฐมนตรีได้มีมติคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2546 ว่าจะออกกฎหมายป้องกันการก่อการร้ายในรูป พระราชบัญญัติ แต่ต่อมามาออกกฎหมายดังกล่าวในรูปพระราชกำหนดเป็นการกลับมติของตนเอง ประการที่สอง ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายเป็นความผิดอาญาซึ่งมีโทษสูงสุดคือประหารชีวิตซึ่งกระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐบาลไม่ควรใช้ทางลัดออกเป็นพระราชกำหนด ควรให้รัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนเป็นผู้พิจารณา ประการที่สาม ผู้คัดค้านเห็นว่าสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนถึงขนาดที่ต้องออกพระราชกำหนดกำหนดความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย[1] อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้เห็นด้วยกับรัฐบาลอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะประชาชน เพราะการออกกฎหมายลักษณะมุ่งรักษาความสงบเรียบร้อยนั้นมักจะได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากประชาชนอยู่เสมอ ประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่นั้นเป็นประเด็นทางกฎหมายมหาชนทั้งสิ้น เพราะทางฝ่ายผู้คัดค้านเองก็คัดค้านเรื่องวิธีการออกกฎหมายของรัฐบาลว่าไม่ควรใช้ทางลัด ผมขออนุญาตเสนอมุมมองอีกมุมมองหนึ่งคือมุมมองทางกฎหมายอาญาเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายการก่อการร้ายสองประเด็น ดังนี้
1. ฐานความผิดรวมและการกำหนดโทษไว้กว้างขวางอาจส่งผลกระทบต่อปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาเกินสมควร มาตรา 135/1 ที่ได้เพิ่มเติมเข้ามาในประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติว่า มาตรา 135/1 ผู้ใดกระทำการอันเป็นความผิดอาญาดังต่อไปนี้ (1) ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย หรือเสรีภาพของบุคคลใด ๆ (2) กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ (3) กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหนึ่งรัฐใด หรือของบุคคลใดหรือต่อสิ่งแวดล้อม อันก่อให้เกิดหรือน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ ถ้าการกระทำนั้นได้กระทำโดยความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศหรือ องค์การระหว่างประเทศ ให้กระทำหรือไม่กระทำการใดอันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ผู้นั้นกระทำความผิดฐานก่อการร้าย ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงหนึ่งล้านบาท การกระทำในการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง โต้แย้ง หรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือหรือให้ได้รับความเป็นธรรมอันเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นการกระทำความผิดฐานก่อการร้าย
นอกจากนี้ยังมีมาตรา 135/2 วางหลักว่าการตระเตรียม หรือสมคบจะทำการก่อการร้ายก็ต้องระวางโทษด้วย มาตรา 135/3 วางหลักว่าการสนับสนุนการก่อการร้ายต้องระวางโทษเสมือนตัวการ และท้ายสุดมาตรา 135/4 วางหลักว่าการเข้าเป็นสมาชิกองค์การก่อการร้ายต้องระวางโทษเช่นกัน เมื่อพิจารณามาตรา 135/1 ซึ่งเป็นฐานความผิดหลักของกฎหมายป้องกันการก่อการร้ายแล้วจะพบว่าเป็นมาตราที่กำหนดลักษณะการกระทำความผิดไว้กว้างขวางหลายประเภทมาก เริ่มตั้งแต่การประทุษร้ายชีวิตร่างกายไปจนถึงการทำให้ทรัพย์สินเสียหาย และนอกจากนี้กฎหมายกำหนดโทษไว้กว้างขวางมากตั้งแต่จำคุกน้อยสุดคือสามปีไปจนถึงประหารชีวิต การกำหนดฐานความผิดและโทษไว้อย่างกว้างขวางในมาตราเดียวเช่นนี้อาจเป็นผลเสียต่อประชาชนได้ เพราะเป็นการให้ดุลยพินิจอย่างกว้างขวางต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับคดี ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการและศาล การก่อการร้ายนั้นมีหลายรูปแบบตั้งแต่การจี้เครื่องบินชนตึกทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายไปจนกระทั่งการทำลายทรัพย์สินทำให้เกิดอันตรายทางเศรษฐกิจโดยไม่มีแม้ผู้บาดเจ็บ เป็นจริงที่ว่าโทษประหารชีวิตหรือโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือโทษจำคุกระยะยาวผู้ร่างคงประสงค์จะปรับใช้กับการก่อการร้ายที่รุนแรงและมีเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายถึงขั้นเสียชีวิตบาดเจ็บทุพพลภาพ แต่เมื่อผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายแล้วไม่ว่าผู้นั้นจะทำการก่อการร้ายรุนแรงขั้นใด ก็จะต้องถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 135/1 ทุกกรณีไป ผลก็คือ ผู้ต้องหาจะต้องได้รับความลำบากมากขึ้นสองประการคือ ประการที่หนึ่ง เรื่องของระยะเวลาการฝากขังที่ตนอาจต้องถูกฝากขังด้วยระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น กล่าวคือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 87 กำหนดว่าคดีความผิดอาญาที่อัตราโทษจำคุกไม่ถึง10 ปี ศาลมีอำนาจฝากขังผู้ต้องหารวมแล้วไม่เกิน 48 วัน แต่ในคดีที่อัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ศาลมีอำนาจฝากขังผู้ต้องหาได้ถึง 84 วัน ทำให้ผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาว่าก่อการร้ายที่มีผลเล็กๆน้อยๆก็ต้องติดคุกก่อนพิพากษาเป็นระยะเวลานานขึ้น ประการที่สองเรื่องของการขอประกันตัว ผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 135/1 นี้อาจต้องหาหลักทรัพย์มาขอประกันตัวที่มากขึ้นเพราะถือว่าเป็นคดีอุฉกรรจ์มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิตและอาจถูกปฏิเสธไม่ให้ประกันอีกด้วย จะเห็นภาพชัดขึ้นถ้าผู้ต้องหาที่ทำลายทรัพย์สินของราชการที่ถูกตั้งข้อหาก่อการร้าย (ไม่ว่าจะโดยการยัดข้อหาหรือความเข้าใจผิดของเจ้าพนักงาน) วิธีการก่อนชั้นศาลของผู้ต้องหาคนนั้นจะต้องเผชิญไม่ว่าจะฝากขังหรือขอประกันตัวต้องใช้หลักเกณฑ์เดียวกับผู้ก่อการร้ายระดับถล่มตึกเวิรด์เทรดเซนเตอร์เลยทีเดียว เป็นไปได้หรือไม่ที่จะกำหนดอัตราโทษให้เหมาะสมกับพฤติกรรมและผลของการก่อการร้าย โดยอาจกำหนดโทษจำคุกและปรับในระดับหนึ่งสำหรับพฤติกรรมการก่อการร้ายทั่วไป และอาจบัญญัติในมาตราเดียวกันหรือมาตราอื่นในทำนองว่า การก่อการร้ายที่เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายหรือบาดเจ็บสาหัสต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกในระยะเวลายาว เป็นลักษณะของเหตุเพิ่มโทษ [2] เพื่อให้แยกข้อหาเป็นอย่างน้อยเป็นสองข้อ อันเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาและเป็นการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาในชั้นก่อนพิจารณาให้เหมาะสมกับน้ำหนักความผิดที่ได้กระทำ หันมาดูกฎหมายฝรั่งเศส เพราะข้อมูลอยู่ใกล้ตัว code pénal มาตรา 421-1 ก็ได้กำหนดฐานความผิด Des actes de terrorisme ไว้เช่นกัน สรุปสั้นๆก็คือการกระทำความผิดอาญาฐานต่างๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้สี่ฐานหลักๆ โดยเจตนา โดยมีความสัมพันธ์กับองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ในการทำให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อความสงบเรียบร้อยสาธารณะโดยวิธีขู่เข็ญข่มขู่หรือทำให้เกิดความหวาดกลัวแก่ประชาชน (constituent des actes de terrorisme, lorsquelles sont intentionnellement, en relation avec une entreprise individuelle ou collective ayant pour but de troubler gravement lordre public par lintimidation ou la terreur, les infraction suivantes ; ) น่าสังเกตว่ากฎหมายฝรั่งเศสเน้นเอาผิดก็ต่อเมื่อผู้กระทำมีความสัมพันธ์กับองค์กรก่อการร้ายในขณะที่กฎหมายไทยมาตรา 135/1 ไม่ได้พูดถึงตัวองค์กรการก่อการร้ายเลย อย่างไรก็ตามฐานความผิดของกฎหมายฝรั่งเศสเป็นฐานความผิดรวมเช่นกันที่ถูกกำหนดไว้ 4 อนุมาตรา มีตั้งแต่ประทุษร้ายต่อชีวิตร่างกายไปจนถึงทำลายทรัพย์สิน แต่กฎหมายฝรั่งเศสกำหนดโทษเป็นชั้นๆไว้ในมาตรา 421-3 เช่น ถ้าความผิดฐานประทุษร้ายต่อชีวิตมีโทษจำคุก 30 ปี ถ้าผู้กระทำมีพฤติการณ์เข้าลักษณะ actes de terrorisme จะต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือ ถ้าความผิดที่กระทำมีโทษจำคุกเพียงสามปี ถ้าผู้กระทำมีพฤติการณ์เข้าลักษณะ actes de terrorisme จะต้องระวางโทษหกปีเป็นต้น เนื่องจากกฎหมายฝรั่งเศสแยกศาลที่พิจารณาคดีอาญาถึงสามชั้นคือ tribunal de police พิจารณาคดีลหุโทษ, tribunal correctionnel พิจารณาคดี délit (โทษจำคุกน้อยกว่า 10 ปี), ส่วน cour dassisses พิจารณาคดี crime (โทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป) และศาลแต่ละชั้นวิธีพิจารณาก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่กฎหมายอาญาฝรั่งเศสพยายามแยกอัตราโทษเป็นชั้นๆให้เหมาะสมกับความผิดที่ผู้ต้องหากระทำ ฝรั่งเศสจึงไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องการกล่าวหาผู้ต้องหาด้วยข้อหาที่มีอัตราโทษที่เกินกว่าการกระทำที่ตนเองได้ทำลง
2. สถานะของกฎหมายป้องกันการก่อการร้ายในประเทศไทย
เมื่อพิจารณาถึงสถานะของกฎหมายป้องกันการก่อการร้ายในประเทศไทยแล้วพบว่าเป็นเรื่องของฐานความผิดที่กำหนดขึ้นในกฎหมายอาญาโดยไม่ได้กล่าวถึงวิธีพิจารณาความอาญา ในเรื่องฐานความผิดอาญาที่กำหนดขึ้นใหม่นั้นแยกพิจารณาได้เป็นสองประเภท คือ
2.1 ความผิดฐานก่อการร้ายในฐานะที่เป็น บทฉกรรจ์ ของความผิดอื่นๆ บทฉกรรจ์ คือบทกฎหมายที่ทำให้ผู้กระทำผิดต้องรับโทษหนักขึ้นเพราะเหตุการณ์บางอย่าง เช่น การปลอมเอกสารต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี แต่หากถ้าเป็นการปลอมเอกสารราชการจะต้องรับโทษตามมาตรา 265 ซึ่งต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี กล่าวคือ ผู้กระทำการปลอมเอกสารราชการต้องรับโทษทั้งสองมาตรา คือ 264 และ 265 แต่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษมาตรา 265 ในฐานะที่เป็นบทฉกรรจ์ กล่าวได้ว่า มาตรา 265 เป็นบทฉกรรจ์ของมาตรา 264 มาตรา 135/1 (1) กำหนดฐานความผิดก่อการร้ายประการแรกคือกระทำการ ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย หรือเสรีภาพของบุคคลใดๆ เห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดอาญาฐานเจตนาฆ่าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, ทำร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290, ทำร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 รวมไปถึงความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 และ 310 ตัวอย่างเช่น หากผู้กระทำผิดได้ทำร้ายผู้อื่นให้ได้รับอันตรายสาหัสโดยกระทำการดังกล่าวในลักษณะที่มีพฤติการณ์ก่อการร้าย ผู้กระทำความผิดจะต้องได้รับโทษตามมาตรา 297 และต้องรับโทษฐานก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 135/1 (1) อีกด้วย แต่ต้องถือว่าเป็นการกระทำ กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษในความผิดฐานก่อการร้ายในฐานะที่เป็นบทฉกรรจ์ เช่นเดียวกันในมาตรา 135 / 1 (2) ได้กำหนดพฤติการณ์การก่อการร้ายประเภทที่สองคือ กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ การกระทำการดังกล่าวก็เป็นความผิดอยู่แล้วในประมวลกฎหมายอาญาลักษณะ 6 ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ตั้งแต่มาตรา 226 ถึงมาตรา 235 ตัวอย่างเช่น หากมีการก่อการร้ายโดยระเบิดถนนสายสำคัญ ผู้กระทำความผิดต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 229 อยู่แล้ว คือจำคุกไม่เกิน 5 ปี และต้องรับผิดฐานก่อการร้ายในฐานะที่เป็นบทฉกรรจ์ในมาตรา 135 /1 (2) อีกบทหนึ่งด้วย แต่เวลาจะลงโทษจริงต้องลงโทษตามมาตรา 135 / 1 (2) ในฐานะที่เป็นบทฉกรรจ์ ในกรณีสุดท้ายคือมาตรา 135 / 1 (3) ได้กำหนดพฤติการณ์การก่อการร้ายประเภทที่สามคือ กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหนึ่งรัฐใด หรือของบุคคลใดหรือต่อสิ่งแวดล้อม อันก่อให้เกิดหรือน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ หากผู้กระทำการก่อการร้ายได้ทำลายทรัพย์สินราชการก็มีความผิดอยู่แล้วฐาน ทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 และมาตรา 360 แต่ต้องรับผิดฐานก่อการร้ายตามมาตรา 135 / 1 (3) ด้วยในฐานะที่เป็นบทฉกรรจ์ ฐานความผิดก่อการร้ายที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 135/ 1 อนุมาตรา 1 ถึง 3 นี้ มีฐานะเป็นบทฉกรรจ์ของความผิดเดิมที่บัญญัติไว้แล้ว แต่อย่างไรก็ดี จะเป็นความผิดฐานก่อการร้ายได้นั้นจะต้องมี เจตนาพิเศษ หรือ มูลเหตุจูงใจ ในการกระทำผิด กล่าวคือจะต้องมีการพิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้กระทำความผิดได้กระทำการดังกล่าว เพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศหรือ องค์การระหว่างประเทศ ให้กระทำหรือไม่กระทำการใดอันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือ เพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน
2.2 ความผิดฐานก่อการร้ายในฐานะที่เป็นความผิดฐานใหม่ นอกจากการกำหนดความผิดฐานก่อการร้ายให้เป็น บทฉกรรจ์ แล้ว ยังมีการกำหนดฐานความผิดใหม่ที่เกี่ยวกับการก่อการร้ายใหม่ขึ้นสองฐาน คือ 1.ความผิดฐานเป็นสมาชิกองค์การก่อการร้ายตามมาตรา 135/4 ซึ่งกรณีดังกล่าวคล้ายกับการเข้าเป็นสมาชิกอั้งยี่ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 และ 2. ความผิดฐานสมคบหรือตระเตรียมการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 135/2 ซึ่งโดยปกติแล้ว ในประมวลกฎหมายอาญาไทยจะมีเพียง 2 ฐานความผิดเท่านั้นที่เพียงแค่ขั้นตระเตรียมก็เป็นความผิด คือ ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 107 และความผิดฐานตระเตรียมการวางเพลิง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 219 ซึ่งการตั้งฐานความผิดใหม่สำหรับการตระเตรียมการก่อการร้ายหรือสมคบกันก่อการร้ายก็มีเหตุผลอธิบายได้ว่าคงเป็นการพิจารณาว่าภัยจากการก่อการร้ายมีความรุนแรงที่ควรจะต้องระงับเหตุก่อน เช่นเดียวกับในอดีตที่เคยพิจารณาว่าภัยจากการวางเพลิงเป็นภัยที่รุนแรงและต้องระงับเหตุโดยการกำหนดฐานความผิดในขั้นตระเตรียมการวางเพลิง
การก่อการร้ายในปัจจุบันเป็นภยันตรายที่รุนแรงไม่เฉพาะต่อประเทศไทย แต่ยังรวมถึงสังคมโลก ดังจะเห็นได้จากการประชุมเอเปคที่ผ่านมาบทบาทของผู้นำสหรัฐอเมริกานั้นเน้นเฉพาะแต่เรื่องปัญหาการปราบปรามการก่อการร้าย การกำหนดกฎหมายในเรื่องการก่อการร้ายเป็นเรื่องที่ควรทำ เพราะเป็นการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยกับสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม การบัญญัติกฎหมายต่างๆก็ไม่ควรที่จะเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจกระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนเกินสมควร ซึ่งปัญหาดังกล่าวก็คงเป็นเรื่องที่ต้องย้อนกลับไปสู่ปัญหาเรื่องการสร้างสมดุลระหว่างสงบเรียบร้อยของประเทศและสิทธิเสรีภาพของปักเจกชนซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานของนโยบายอาญา [1] ดูประเด็นการคัดค้านทั้งหมดได้ที่ http://www.pub-law.net/article/tulaw_let.html [2] เช่นการวางเพลิงเผาทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217 มีโทษจำคุกหกเดือนถึงเจ็ดปีและปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท และเหตุเพิ่มโทษคือมาตรา 224 การการวางเพลิงจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายมีโ ทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต |