Bon père de famille
วิญญูชน
(กม.แพ่ง)
ศัพท์คำนี้มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน
Bonus pater familias
ในสมัยโรมันนั้น พ่อ (หรือหัวหน้า) ที่ดีของครอบครัว
เป็นผู้ที่จัดการบริหารทรัพย์สินของครอบครัว เป็นที่น่าสังเกตว่า
ชายใดที่พ่อยังมีชีวิตอยู่ ไม่ว่าจะมีอายุเท่าไหร่ก็ตาม
จะไม่มีทรัพย์สินเป็นของตัวเองตามกฎหมาย
ปัจจุบัน คำว่า
bon père de famille
ปรากฏอยู่ในกฎหมายหลายมาตราของฝรั่งเศส ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวพันกับการเก็บรักษา บริหาร
และจัดการทรัพย์สินของผู้อื่น ด้วยความระมัดระวัง
เปรียบเสมือนเป็นทรัพย์สินของตัวเอง
เช่น ในมาตรา 1728
ของประมวลกฎหมายแพ่งของประเทศฝรั่งเศส บัญญัติว่า
ผู้เช่าทรัพย์ต้องใช้ทรัพย์ที่เช่าเยี่ยงวิญญูชนพึงปฏิบัติ
หลักนี้ถูกใช้ในกรณีอื่นๆอีก ตามประมวลกฎหมายแพ่งของประเทศฝรั่งเศสเช่น
การบริหารทรัพย์สินของผู้เยาว์โดยผู้แทนโดยชอบธรรม (มาตรา 450)
และการเก็บรักษาและใช้ทรัพย์ที่ยืมมา (มาตรา 1880) เป็นต้น
คำว่า bon père
de famille ในบางกรณี อาจเทียบได้กับคำว่า
l'homme raisonnable หรือ
l'homme droit et avisé
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
เมื่อพูดถึงความรับผิดของผู้ที่สร้างความเสียหายแก่ผู้อื่นโดยไม่เจตนา
หน้าหลัก
ดรรชนีคำศัพท์

Bien-être (n.m) สวัสดิการ (รัฐธรรมนูญ,
กม. แรงงาน)
คำว่า
bien être
ตามปกติแล้วไม่ได้เป็นศัพท์เฉพาะทางกฎหมาย โดยจะหมายถึง ความกินดีอยู่ดี
คำนี้เราจะพบบ่อยในทางเศรษฐกิจ
ในส่วนของวิชากฎหมาย เรามักจะพบคำนี้ได้ในกฎหมายแรงงาน
โดยจะหมายถึง "สวัสดิการ" อย่างไรก็ดี โดยความหมายของ bien
être หมายถึง
สภาพความกินดีอยู่ดี อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ดังนั้น เมื่อ
จะกล่าวว่านายจ้างให้สวัสดิการแก่ลูกจ้าง เรามักจะพบประโยคว่า L'employeur
assure le bien-être de ses employés.
ตัวอย่างการใช้คำนี้ เราจะพบในบทนำของรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐที่ 4 ของประเทศฝรั่งเศสปี 1946 (Préambule de la Constitution du 27 octobre 1946 de la
IV République) ข้อ 17
ได้บัญญัติไว้ถึงการใช้ทรัพยากรและความพยายาม เพื่อพัฒนาประเทศ
เพิ่มพูนความกินดีอยู่ดี
(bien-être) และรักษาความสงบเรียบร้อยของชาติ
(...ปัจจุบัน
ประเทศฝรั่งเศสใช้รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐที่ 5 ปี 1958 (Constitution de la V République du 4 octobre 1958) แต่บทนำของ รัฐธรรมนูญปี 1946
ยังคงถูกพิจารณาว่ามีศักดิ์เทียบเท่ากับรัฐธรรมนูญอยู่...)
หน้าหลัก
ดรรชนีคำศัพท์

Principes généraux du droit (PGD) หลักกฎหมายทั่วไป(กม.ทั่วไป),
หลักที่วางโดยศาลปกครอง(กม. ปกครอง),
หลักกฎหมายทั่วไปที่นานาประเทศยอมรับ(กม.ระหว่างประเทศ)
คำนี้เมื่อแปลตามตัวแล้วก็คือ หลักทั่วไปของกฎหมาย
จึงดูเหมือนว่าไม่น่าจะสร้างปัญหาในการอ่านแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม คำว่า
Principes généraux du droit
ในกฎหมายมหาชน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกฎหมายปกครอง จะมีความหมายพิเศษ โดยจะหมายถึง หลักต่างๆ
ที่ถูกวางโดย
Conseil d'Etat
ในฐานะศาลปกครองสูงสุดของฝรั่งเศส (ดูเพิ่มเติม
Principes fondamentaux reconnus par les lois de la République)
โดยเราสามารถพบหลักทั่วไปดังกล่าวได้ในคำตัดสินต่างๆของ
Conseil d'Etat ตัวอย่างเช่น
หลักความเสมอภาคในการได้รับบริการสาธารณะ หรือ l'égalité
devant les services publics (CE 9 mars 1951 Société des concerts du
concervatoire),
หลักบังคับให้ฝ่ายบริหารยกเลิกกฎเกณฑ์ที่ผิดกฎหมาย หรือ
l'obligation d'abroger des règlements illégaux (CE 3 février 1989 Compagnie Alitalia) และ
หลักความไม่มีผลย้อนหลังของกฏต่างๆ หรือ la
non-rétroactivité des actes administratifs (CE 25 juin 1948 Société
du Journal "L'Aurore") เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ศาลรัฐธรรมนูญ ได้เคยวางหลักทั่วไป และให้คำจำกัดความหลักนั้นว่า
Principe généraux du
droit
แต่ Conseil d'Etat
ได้ออกมาระบุว่าหลักนั้นๆไม่ใช่
Principe généraux du droit
ปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันว่า
Principes généraux du droit
มีศักดิ์เท่ากับกฎหมาย (loi)
แต่ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถออกกฎหมายขัดกับหลักนี้ได้ (ดู
G. CORNU, Vocabulaire juridique, PUF)
อย่างไรก็ตามในการเรียนการสอนของประเทศฝรั่งเศสมีทฤษฎีที่เห็นว่า
อำนาจในการตรากฎหมายเป็นของฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น
ศาลจึงไม่อาจวางหลักที่จะมีค่าเท่ากับกฎหมายได้ จึงเห็นว่า หลักที่ศาลวาง
หรือ
Principes généraux du droit
นั้นจึงมีศักดิ์ต่ำกว่ากฎหมาย (valeur infra-législative)
(ดู
R. CHAPUS "Droit administratif général" Précis Domat)
อย่างไรก็ดี ทุกฝ่ายเห็นว่า
Principes généraux du droit
มีศักดิ์สูงกว่ากฏต่างๆ
(règlement)
ที่ออกโดยฝ่ายบริหาร (valeur supra-décrétale)
นอกจากนี้
เรายังอาจพบคำว่า
principes généraux du droit
ในกฎหมายระหว่างประเทศด้วย
โดยจะหมายถึง หลักทั่วไปของกฎหมายที่ได้รับการยอมรับจากประเทศที่มีอารยธรรม
(Principes généraux reconnus par les nations civilisées) เราจะพบการอ้างถึงหลักต่างๆนี้ได้ในคำพิพากษาของศาลโลก
(Cour internationale justice)
และในคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ (Décisions arbitrales)
ตัวอย่างของหลักทั่วไปของกฎหมาย ในกฎหมายระหว่างประเทศ ได้แก่
หลักสุจริต (bonne foi),
หลักความเสมอภาคของโจทก์และจำเลยในคดี (égalité des parties à une
sentences), ลาภมิควรได้
(enrichissement sans cause) และหลักความรับผิดของรัฐ
(responsabilité des Etats) เป็นต้น
หน้าหลัก
ดรรชนีคำศัพท์

Principes
fondamentaux reconnus par les lois de la République (PFRLR) หลักที่วางโดยศาลรัฐธรรมนูญ
(รัฐธรรมนูญ, กม. ปกครอง)
เรามักพบคำนี้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ
โดยจะหมายถึงหลักกฎหมายที่ถูกวางโดยศาลรัฐธรรมนูญในคำพิพากษาต่างๆ
โดยจะแตกต่างจาก หลักทั่วไปที่ถูกวางโดย
Conseil d'Etat หรือ
Principe généraux de droit
หลัก Principes fondamentaux reconnus par les lois de la République หรือ PFRLR
มีศักดิ์เทียบเท่ากับรัฐธรรมนูญ (valeur constitutionnelle)
และกฎหมายต่างๆที่ขัดกับหลัก PFRLR
นี้ จะถูกพิจารณาว่าขัดรัฐธรรมนูญได้
คำว่า
Principes fondamentaux reconnus par les lois de la République
ถูกบัญญัติไว้ในบทนำของรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐที่ 4 ของฝรั่งเศส (Préambule de la Constitution du 27 octobre 1946 de la
IV République)
และได้ถูกนำมาใช้โดยศาลรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกในปี 1971
โดยศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ เสรีภาพในการรวมกลุ่ม เป็นหนึ่งใน PFRLR
(CC 16 juillet 1971 Liberté d'association)
อันมีศักดิ์เท่ากับรัฐธรรมนูญ
ตัวอย่างอื่นๆ ของ PFRLR
ได้แก่ เสรีภาพส่วนบุคคล หรือ
Liberté individuelle (CC 16 juillet 1971),
เสรีภาพในการสอน
โดยผู้สอนจะมีอิสระในการสอนตามหลักวิชาการ หรือ Liberté d'enseignement
และเสรีภาพทางความคิด หรือ Liberté de conscience
(CC 23 novembre 1977) และ
สิทธิในการต่อสู้คดีเมื่อถูกฟ้องต่อศาล หรือ droit de la défense (CC 2 décembre 1976) เป็นต้น
อย่างไรก็ดี
บางครั้งศาลรัฐธรรมนูญได้วางหลักที่มีศักดิ์เทียบเท่ากับรัฐธรรมนูญ
โดยไม่ได้ระบุว่าหลักนั้นเป็น PFRLR เช่น
หลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะ หรือ la continuité de service
public (CC 25 juillet 1979 Droit de la grève à la radio
et à la télévision)
หน้าหลัก
ดรรชนีคำศัพท์

En vigueur
มีผลบังคับใช้(กม.ทั่วไป)
คำนี้ใช้กับกฎหมาย หรือ กฎต่างๆ
รวมทั้งสนธิสัญญา จะหมายความว่า มีผลบังคับใช้
เช่น "Le code
pénal est entré en vigueur le 1er
mars 1994" เป็นต้น
คำกริยาที่ใช้กับคำว่า
en vigueur
คือ verbe entrer ซึ่งสามารถนำมาทำเป็นคำนามได้ คือ
L'entrée en vigueur
หากเราต้องการบอกว่า ตามกฎหมายต่างๆที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน
จะพูดได้ว่า Selon la législation en vigueur หรือ
Selon les lois en vigueur ...
โดยหลักของการมีผลใช้บังคับของกฎหมายนี้
กฎหมายของประเทศฝรั่งเศสก็ใช้หลักการเดียวกับกฎหมายของอารยประเทศทั่วไปกล่าวคือ
โดยหลักแล้วกฎหมายจะไม่มีผลย้อนหลัง
(non-rétroactivité)
หลักนี้ถืออย่างเคร่งครัดในประมวลกฎหมายอาญาว่า
ห้ามบังคับกฎหมายให้มีผลย้อนหลังเป็นโทษแก่ผู้กระทำความผิด
นอกจากนี้ยังมีสุภาษิตกฎหมายบัญญัติว่า ไม่มีกฎหมายไม่มีโทษ
Nulla crimen sine lege และ
Nulla poena sine lege หรือ
No crime no punishment with out law
ซึ่งเป็นการยืนยันว่า
ถ้าในขณะกระทำความผิดไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดผู้กระทำความผิดก็ไม่มีความผิด
และจะลงโทษไม่ได้ โดยประเทศฝรั่งเศสมีบัญญัติไว้ของตาม
มาตรา 111-3 แห่งประมวลกฎหมายอาญาประกอบกับมาตรา
112-1
แห่งประมวลกฎหมายอาญา
นอกจากนี้ในทางกฎหมายแพ่งนั้นมาตรา 2
แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง
ของฝรั่งเศส ก็ได้บัญญัติหลักนี้ไว้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ก็มีข้อยกเว้นของหลักดังกล่าว เช่น ผู้ออกกฎหมายอาจระบุให้กฎหมายมีผลย้อนหลังได้ด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งตามที่กฎหมายให้อำนาจให้ทำได้
ตัวอย่างเช่น
กฎหมายว่าด้วยอุบัติเหตุการจราจร
(loi
du 11 juillet 1985 relative aux accidents de circulation)
นอกจากนี้
ยังมีกรณีที่กฎหมายมีผลย้อนกลับไปก่อนวันประกาศใช้บังคับอื่น ๆ
อีกหลายกรณี เช่น กฎหมายที่ออกมาเพื่อการตีความกฎหมายที่ได้ออกมาก่อนแล้ว
เช่น ปี 2545 รัฐออกกฎหมาย (ก.) ต่อมามีปัญหาในการตีความ ปี 2546 รัฐจึงออกกฎหมาย
(ข.) (หรือ loi d'interprétation)
มาเพื่ออธิบาย และช่วยในการตีความกฎหมาย (ก.) กฎหมาย (ข.)
จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่กฎหมายที่กฎหมาย (ก.) เริ่มบังคับใช้ คือตั้งแต่ปี
2545
ตามปกติแล้ว
กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ทันที (effet immédiat)
หลังจากที่ประกาศใช้
(promulgation)
และตีพิมพ์ในรัฐกิจจานุเบกษา
(journal officiel)
แล้ว 1 วัน
(un jour franc) เช่น กฎหมายตีพิมพ์ วันที่ 15 ตุลาคม
จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม เป็นต้น
อย่างไรก็ดี
การกำหนดให้กฎหมายมีผลบังคับใช้อาจกำหนดให้มีผลบังคับใช้ในอนาคต
ตั้งแต่วันที่นั้นๆเป็นต้นไปก็ได้
(เรื่อง
"การมีผลใช้บังคับย้อนหลังของกฎหมาย" เป็นเรื่องที่สำคัญและมีรายละเอียดมาก
ผู้สนใจควรหาตำราอ่านโดยเฉพาะ
ในที่นี้ยกมาเพียงเพื่อเป็นตัวอย่างประกอบความเข้าใจของคำศัพท์เท่านั้น)
หน้าหลัก
ดรรชนีคำศัพท์

Police administrative
(n.f.)
อำนาจ
หน้าที่ในการป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย
(กม.ปกครอง)
Police administrative
เป็นอำนาจอย่างหนึ่งของรัฐที่ใช้เพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
หรือรู้จักกันว่า Pouvoir de police
โดยทั่วไปจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
- Police administrative
และ
-
Police
judiciaire
Police administrative
ได้แก่ อำนาจ หน้าที่ วิธีการ
และปฏิบัติการเพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำอันผิดกฎหมาย ตัวอย่างเช่น
กรณีที่ตำรวจสายตรวจออกตรวจตราป้องกันการเกิดอาชญากรรม หรือการอารักขาบุคคลสำคัญ
เป็นต้น
การใช้อำนาจ Police administrative นั้นจะใช้ในนามของ
รัฐ องค์กรอื่นๆของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ได้
ซึ่งในส่วนนี้จะต่างไปจาก Police judiciaireที่จะถูกกระทำในนามของรัฐเท่านั้น
Police
administrative สามารถถูกแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
1.ประเภททั่วไป (police
administrative générale) ได้แก่
อำนาจที่ใช้ในเรื่องทั่วไปรวมถึงการรักษาความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย
และสุขอนามัยด้วย
2.ประเภทพิเศษ (police
administrative spéciale) ได้แก่
อำนาจที่ใช้เป็นเรื่องเฉพาะทางต่างๆ เช่น อำนาจเกี่ยวกับการควบคุมการปิดประกาศ
การควบคุมการประมง การควบคุมสิ่งก่อสร้างอันอาจเป็นอันตราย การควบคุมภาพยนตร์
เป็นต้น
อนึ่ง ในการพิจารณาว่าอำนาจใดเป็น
Police administrative หรืออำนาจใดเป็น
Police judiciaire
จะต้องพิจารณาจากลักษณะของภาระหน้าที่ ไม่ใช่ที่ตัวบุคคลผู้ใช้อำนาจนั้น
ดังนั้น บุคคลคนเดียวกันอาจปฏิบัติการได้จากอำนาจทั้งสองอย่าง(โปรดดูรายละเอียดใน
Police
judiciaire )
หน้าหลัก
ดรรชนีคำศัพท์

Police
judiciaire (n.f.)
อำนาจ หน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิด (กม.ปกครอง)
Police judiciaire
เป็นอำนาจอย่างหนึ่งของรัฐที่ใช้เพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ (โปรดดู
Police
administrative)
Police
judiciaire คือ อำนาจ หน้าที่ วิธีการ
และปฏิบัติการเพื่อการจำกุม และนำผู้กระทำผิดกฎหมายมาลงโทษ (โดยจะแตกต่างจาก
Police
administrative ที่เป็นอำนาจ
ปฏิบัติการในขณะที่การกระทำผิดกฎหมายยังไม่เกิดขึ้น)
Police judiciaire
จะถูกกระทำในนามของรัฐเท่านั้น(ต่างจากPolice administrativeที่สามารถใช้ในนามของ
รัฐ องค์กรอื่นๆของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ได้)
อนึ่ง ในการพิจารณาว่าอำนาจใดเป็น
Police administrative หรืออำนาจใดเป็น
Police judiciaire
จะต้องพิจารณาจากลักษณะของภาระหน้าที่ ไม่ใช่ที่ตัวบุคคลผู้ใช้อำนาจนั้น
ดังนั้น บุคคลคนเดียวกัน เช่น ตำรวจ หรือ maire(อาจเทียบได้กับนายกเทศมนตรี)
อาจปฏิบัติการได้จากอำนาจทั้งสองอย่าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ตัวอย่างเช่น
ตำรวจซึ่งมารักษาความปลอดภัยในการขนส่งเงินของธนาคาร ปฏิบัติหน้าที่ของ
Police administrative
หากเกิดการปล้นขึ้น ตำรวจได้ปฏิบัติการจับคุมคนร้าย นั่นคือ
police judiciaire.
หน้าหลัก
ดรรชนีคำศัพท์

Disposer (v.)
บัญญัติ Stipuler (v.)
กำหนดไว้ในสัญญา (กม.ทั่วไป)
ทั้งคำว่า
disposer และคำว่า stipuler
มีความหมายว่า กำหนด หรือ ระบุ
แต่ในทางกฎหมายไม่สามารถใช้แทนกันได้
เราจะใช้คำว่า
disposer
กับกฎหมาย
หากเราต้องการพูดว่า มาตรา 1134 วรรค 3
ของประมวลกฎหมายแพ่งของฝรั่งเศสบัญญัติว่า
การปฏิบัติตามสัญญาจะต้องกระทำตามหลักสุจริต เราจะพูดได้ว่า "L'article 1134
aliéna 3 du code civil français dispose que les contrats doivent être
exécutés de bonne foi".
คำว่า la disposition
มาจากกริยา disposer หมายถึง
บทบัญญัติ เช่น เมื่อต้องการพูดว่า รัฐบัญญัติวันที่ 11 กรกฎาคม 1985
ประกอบไปด้วยบทบัญญัติต่างๆว่าด้วยอุบัติเหตุการจราจร เราจะพูดได้ว่า "La
loi du 11 juillet 1985 comporte des dispositions
concernant les accidents de circulation".
ส่วนคำว่า stipulation
จะใช้กับการกำหนดไว้ในสัญญา
เช่น เมื่อจะบอกว่า สัญญาเช่าบ้านกำหนดไว้ว่าผู้เช่าจะต้องทำประกันบ้านที่เช่า
จะบอกได้ว่า "Le bail d'habitation stipule que le locataire doit faire une
assurrance du local loué".
คำนามของกริยานี้คือ la stipulation
ซึ่งหมายถึง ข้อกำหนดในสัญญา หากเราต้องการบอกว่า ในสัญญาเช่าบ้านของฉัน
ไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับระยะเวลาของสัญญา เราจะพูดได้ว่า "Dans mon contrat
de bail, il n'y a aucune stipulation sur la durée du contrat".
อย่างไรก็ดี ในกฎหมายระหว่างประเทศ เราอาจใช้คำว่า
stipuler หรือ stipulation
กับสนธิสัญญาได้
หน้าหลัก
ดรรชนีคำศัพท์

|