หน้าแรก เปิดตัว ฝรั่งเศส-พม่า๑ ฝรั่งเศส-พม่า๒ ฝรั่งเศส-พม่า๓ โสเภณีฯ

จดหมายเหตุความสัมพันธ์ยุโรป-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Petit Braudel 

เรื่องที่ ๑

เมื่อฝรั่งเศสทำการค้าในอาณานิคมอังกฤษ ... พม่า

 

ตอนที่ ๑   นโยบายจักรวรรดินิยมของพม่ากับการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ !?!

 

          เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ผู้นำทั้งสี่ประเทศ ประกอบด้วย พม่า ลาว กัมพูชา และไทย ได้ลงนามในปฏิญญายุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Economic Cooperation Strategy) ที่เมืองพุกาม สหภาพพม่า ด้วยมีจุดประสงค์เพื่อผลักดันการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งสี่ให้เจริญเติบโตไปพร้อมกัน และเพื่อลดความแตกต่างทางสังคมของประเทศทั้งสี่ด้วย นี่ก็เลยทำให้เราเริ่มสนใจว่าพม่าซึ่งเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติไม่แพ้ประเทศอื่นๆ ในคาบสมุทรอินโดจีน จะทำการค้าอะไรบ้างโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่อังกฤษเข้ามาอิทธิพลทางการเมือง ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๘๒๖ จนถึงปี ค.ศ. ๑๘๘๖ ที่อังกฤษผนวกดินแดนพพม่าเข้าเป็นจังหวัดหนึ่งของอาณานิคมอินเดียตะวันออกแห่งเครือจักรภพอังกฤษ

แต่ไม่เพียงเท่านั้นที่เราอยากรู้ เพราะอีกฝากหนึ่งของคาบสมุทรอินโดจีน ฝรั่งเศสซึ่งได้เข้ามาเป็นเจ้าผู้ปกครองในระบบอาณานิคมของเวียดนาม กัมพูชา และลาว อย่างเต็มที่ในปี ค.ศ. ๑๘๘๗[1] นั้น ก็สนใจเข้ามาทำการค้าในพม่าซึ่งเป็นอาณานิคมอังกฤษด้วย เราจะมาดูกันว่าฝรั่งเศสจะทำอย่างไรเพื่อให้ประสบความสำเร็จทางการค้าในเขตอิทธิพลของคู่แข่ง สำคัญอย่างอังกฤษ 

แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องการค้าของฝรั่งเศสในพม่า สำหรับตอนนี้เรามาดูก่อนดีกว่าว่า ทำอย่างไรพม่าถึงได้กลายเป็นอาณานิคมของอังกฤษไปได้ ทั้งๆที่เป็นอาณาจักรที่มีความเกรียงไกรในเรื่องการรบ

* * * * *

 

                เราคงจำได้ว่านักรบผู้เกรียงไกรอย่างบุเรงนอง ผู้นำทัพพม่ามาหักร้างอยุธยาให้แตกพ่ายไปในปี ๑๗๖๗ หรือจะเป็นจอมทัพอย่างอะแซหวุ่นกี้ผู้นำทัพมาปราบปรามการลุกฮือของพระยาตากผู้สถาปนาตนเป็นกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาหรือจะเป็นพระเจ้าปดุงผู้นำพม่าในสงครามเก้าทัพพม่า-สยามในสมัยพระบามสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี ทั้งหมดคงเป็นภาพลักษณ์ที่ยังฝังในความทรงจำของคนไทยทั่วไป

                แต่อย่างไรแล้ว ก็ต้องบอกว่าพม่าในช่วงเวลาที่เราสนใจศึกษาก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

                การยกทัพเข้าตีสยามของพระเจ้าปดุง (Bodoahprâ)[2] แห่งกรุงอังวะ (Ava) ทำให้ได้ข้อพิสูจน์แก่พม่าว่า การเดินทางไกล การขาดความชำนาญในพื้นที่ และการขาดแคลนเสบียงอาหาร รวมถึงโรคภัยไข้ป่าเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการกำราบสยามลงอีกคำรบหนึ่ง ในเวลาเดียวกัน ช่วงเวลาที่สยามย้ายเมืองหลวงมาตั้งที่บางกอกฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ถือได้ว่าสยามตั้งอยู่ในชัยภูมิที่จะได้เปรียบ ทั้งทางด้านกำลังคน การค้า การผลิตอาหาร และการเชื่อมโยงกับรัฐชายฝั่งอื่นๆ ดังนั้น การกรีฑาทัพมารบของพม่าจึงไม่ได้ผลตามที่ต้องการ

                หลังจากนั้น พม่าเริ่มดำเนินนโยบายขยายอำนาจทางดินแดนไปทางตะวันตกและขึ้นเหนือ พระเจ้าปดุงย้ายเมืองจากอังวะไปอยู่ ณ กรุงอมระปุระ (Amarapura) ซึ่งตั้งห่างออกไปประมาณ ๖ ไมล์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงอังวะเดิม นัยว่าต้องการ “หลีกหนีจากวิญญาณชั่วร้ายที่ครอบงำนครหลวง” ที่เกิดจากการที่พระองค์ได้สั่งให้ประหารชีวิตคนเป็นจำนวนมากซึ่งรวมถึงบุคคลสำคัญในราชวงศ์ของพระองค์เองด้วย

แต่ด้วยบุคลิกลักษณะนิสัยเช่นนี้เองที่พระเจ้าปดุงสามารถครอบครองบรรลังค์และอยู่ในอำนาจเป็นระยะเวลานานจนรัชทายาทซึ่งเป็นพระโอรสองค์โตของพระองค์สิ้นพระชนม์ไปก่อนพระองค์มากกว่า ๑๐ ปี และพระโอรสขององค์รัชทายาทก็ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระองค์เมื่อพระชนมายุม์ได้ ๓๕ ปี

เราคงต้องยอมรับว่าในรัชสมัยของพระเจ้าปดุง พม่ามีอิทธิพลเหนือที่ราบลุ่มน้ำอิระวดี พร้อมๆกับที่เจ้าเมืองต่างๆในทางตะวันออกของแม่น้ำสาละวินจนถึงแม่น้ำโขงยอมรับในอำนาจของพระองค์ ยังรวมไปถึงตลอดชายฝั่งของแคว้นตะนาวศรี (Tenasserim) อันมีเมืองสำคัญทางการค้า เช่น มะริด (Mergui) และทวาย (Tavoy)  หรือแคว้นเมาะตะมะ (Martaban) ซึ่งมีเมืองสำคัญคือมะละแหม่ง (Moulmein) เป็นต้น ก็ล้วนอยู่ภายใต้การปกครองของอมระปุระทั้งสิ้น  แต่แล้วเรื่องการกระทบกระทั่งกับมหาอำนาจทางทิศตะวันตกผู้เป็นเจ้าอาณานิคมของอินเดียก็เกิดขึ้น

เรื่องคงเริ่มที่ ชาวแคว้นอารกัน  (Arakan) แคว้นชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของอมระปุระ ด้วยความที่เกิดศึกกลางเมืองเพื่อแย่งชิงอำนาจครอบครองราชบรรลังค์ จึงเป็นเหตุให้พระเจ้าปดุงยื่นมือเข้ามาเพื่อหวังผนวกดินแดนเข้ากับอาณาจักรของพระองค์ ในปี ๑๗๘๔ พระเจ้าปดุงให้พระราชโอรสคองกีโย _(Khaung Gyô)  ปกครองอารกัน แต่ในขณะที่ชาวอารกันมีความคาดหวังว่า ความวุ่นวายจากการแย่งชิงอำนาจกันของราชวงศ์และขุนนางจะจบสิ้นลงเมื่อพม่ามาปกครอง ต้องกลับกลายเป็นว่าพวกเขาต้องพบกับปัญหาใหม่ที่เกิดจากขุนนางพม่าที่มาปกครอง และแล้วก็นำมาซึ่งการลุกฮือขึ้นต่อสู้ของชาวอารกัน ประชาชนหลายพันคนเดินทางอพยพหนีภัยเข้าเขตอิทธิพลของอังกฤษ ซึ่งรวมทั้งสามผู้นำการปฏิวัติด้วย ปี ๑๗๙๔ ทหารพม่าก็ข้ามพรหมแดนเข้าเขตอิทธิพลอังกฤษเพื่อติดตามผู้ร้ายข้ามแดน กองกำลังภายใต้การบังคับบัญชาของพลเอกแอสไคน์ (Erskine) ถูกส่งมาจากกัลกัตตาเพื่อระงับข้อพิพาทกับพม่า

ทั้งสองฝ่ายตกลงพร้อมใจกันแก้ปัญหาอย่างสันติ โดยอังกฤษส่งตัวผู้นำการปฏิวัติทั้งสามคนกลับอารกันแล้วพม่าก็ถอยทัพกลับ แต่เพื่อเป็นการป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้นซ้ำสองและการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองฝ่าย กัปตันซีมส์ (Symes) ได้รับการแต่งตั้งจากเซอร์จอห์น ชอร์ (Sir John Shore) ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอินเดีย เป็นผู้แทนมาเจรจากับพระเจ้าปดุงในปี ๑๗๙๕ แต่ไม่มีทั้งการเซ็นสนธิสัญญาใดๆ ทั้งสิ้น ที่อังกฤษได้เตรียมไป

แต่อย่างไรก็ตาม ในปีถัดมา อังกฤษได้ส่งข้าหลวงเพื่อดูแลผลประโยชน์ทางการค้าที่เมืองร่างกุ้ง (Rangoon) ถึงแม้ว่าจะได้เข้าเฝ้าพระเจ้าปดุง แต่ผู้แทนอังกฤษก็ไม่ได้รับการดูแล “อย่างสมเกียรติ” ในฐานะผู้แทนรัฐบาลอังกฤษ

และแล้วเหตุการณ์ก็ซ้ำรอยเดิม ในช่วงปี ๑๗๙๗-๑๗๙๘ การอพยพของชาวอารกันหลายพันคนเข้าสู่เมืองจิตตะกอง (Chittagaon) ซึ่งอยู่ในเขตอิทธิพลอังกฤษเป็นเหตุให้เกิดการกระทบกระทั่งกันอีก แต่เนื่องจากพระเจ้าปดุงกำลังอยู่ระหว่างการรบกับรัฐอัสสัม (Asâm) จึงให้ถอยกำลังออกจากเมืองจิตตะกองแล้วก็ส่งผู้แทนพระองค์ไปเจรจาที่เมืองกัลกัตตา ส่วนข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอินเดียซึ่งเห็นว่าสุลต่านมีซอร์ (Mysore) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสกับกษัตริย์เซมาน (Zemân) ของอัฟกานิสถาน ที่มีแผนการณ์คุกคามอินเดีย จึงไม่ต้องการที่จะผลักให้พระเจ้าปดุงเข้าพวกศัตรู โดยไม่อนุญาตให้คนที่อพยพเข้ามาในเขตอิทธิพลอังกฤษเข้าไปปล้นหรือบุกเข้าโจมตีแคว้นอารกันอีก

ในปี ๑๘๐๒ อังกฤษส่งคนกลับเข้าไปเจารจากับรัฐบาลพม่าอีกครั้งเพราะสนธิสัญญาที่เคยส่งไปตั้งแต่ครั้งแรกยังไม่ได้รับการตอบตกลงแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามการส่งผู้แทนไปครั้งนี้ก็ไม่ได้ผลใดๆคืบหน้า จนถึงช่วงปี ๑๘๐๙-๑๘๑๐ แน่นอนเมื่อไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นเลยระหว่างเวลาที่ผ่านไปนับสิบปี ความรู้สึกในไมตรีจิตย่อมเสื่อมคลายลง ประกอบกับในปี ๑๘๑๑ ก็เกิดการลุกฮือขึ้นปฏิวัติของชาวอารกันอีก และพวกผู้นำก็หลบหนีเข้าเมืองจิตตะกองเช่นเดิม มิเพียงเท่านั้น กลุ่มคนพวกนี้ยังเข้าไปรวมสมัครพรรคพวกและกลับเข้ามาโจมตีที่ทำการของพม่าในอารกันอีก อังกฤษยังคงใช้การเจรจาเพื่อการคลี่คลายปัญหาเช่นเดิม

ในปีเดียวกันนั้นเองที่พระเจ้าปดุงตัดสินใจใช้มาตารการเด็ดขาดกับอังกฤษผู้ไม่น่าไว้วางใจ กัปตันคานนิง (Canning) ข้าหลวงอังกฤษประจำเมืองร่างกุ้ง ถูกจับกุมตัวโดยมหาอุปราชเมืองเปกู (Pegu) แต่เขาหลบหนีไปได้ในที่สุด และกลับเข้ามาอีกครั้งพร้อมเรือปืน แต่การเจรจาไม่เป็นที่พอใจ เขาจึงตัดสินใจออกจากร่างกุ้ง

ในเดือนกันยายนปี ๑๘๑๒ พม่าส่งผู้แทนไปอินเดียเพื่อเจรจาเรื่องการปราบรามผู้ร้ายข้ามแดนชาวอารกันอีกครั้ง ในปีถัดมา ชาวพม่าคนหนึ่งถูกจับกุมตัวในระหว่างเดินทางไปค้นหาคัมภีร์ทางศาสนาที่เมืองพาราณสี (Banares) ตามข้อมูลอังกฤษ เขาเป็นสายลับที่เข้ามาติดต่อกับผู้ปกครองเมืองต่างๆของอินเดียเพื่อร่วมมือกันโค่นล้มอำนาจของอังกฤษ  รัฐบาลอังกฤษเชื่อว่า พระเจ้าปดุงมีความต้องการครอบครองแคว้นตะวันออกของเบงกอล (Eastern Bengal) อย่างน้อยก็จรดเมืองเดคคา (Dacca)

ในปี ๑๘๑๔ อังกฤษก็อนุญาตให้ทหารพม่าเข้ากวาดล้างกลุ่มผู้ปฏิวัติซึ่งตั้งอยู่ในเขตอิทธิพลของอังกฤษ ปีถัดมา รัฐบาลพม่าส่งผู้แทนมาเจรจาเพื่อกวาดต้อนผู้อพยพกลับคืนอารกัน แล้วในปี ๑๘๑๗ นั่นเองที่แผนการณ์ร่วมมือกันระหว่างเจ้าเมืองต่างๆในอินเดียกับพม่าเพื่อล้มล้างอำนาจอังกฤษก็ถูกเปิดเผย

ในอีกด้านหนึ่ง พม่าก็พยายามผนวกดินแดนของแคว้นอัสสัมซึ่งปกครองโดยชาวฉานมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ ให้อยู่ภายใต้พระราชอำนาจแห่ง “จักรวรรษดิ์พม่า” แต่เมื่อเหตุการณ์เป็นใจ เพราะเรื่องแย่งชิงอำนาจการปกครอง พม่าก็ยื่นมือเข้า ช่วยเหลือและเข้ายึดอำนาจในที่สุด แต่อังกฤษย่อมขัดขวางเพื่อไม่ให้เสียพื้นที่เขตอิทธิพลของตน

กษัตริย์พากยีโดอา (Hpagyîdoa) ผู้สืบอำนาจต่อจากพระเจ้าปดุง ย้ายพระราชวังกลับมาที่กรุงอังวะ โดยให้เหตุผลเช่นเดียวกับการย้ายกรุงไปที่อมระปุระของพระเจ้าปดุง  พระองค์ยังคงดำเนินนโยบายขยายดินแดนเช่นเดียวกับพระอัยกาของพระองค์ กล่าวคือความพยายามยึดครองแคว้นอารกันและแคว้นอัสสัมให้สำเร็จ แต่แล้วด้วยการกระทบทั่งกับอังกฤษโดยตรงและเห็นว่าพม่าเป็นศัตรูและเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของแคว้นอัสสัม กัจจาร (Kachâr) มณีปูร (Manipur) และจิตตะกองที่ติดต่อกับอารกัน จึงทำให้อังกฤษประกาศสงครามกับพม่าในปี ๑๘๒๔

แผนการณ์ของพม่าคือ การโจมตีเข้าพร้อมกันในเขตติดต่อชายแดน และพยายามยึดเมืองร่างกุ้งก่อน แล้วระดมพลจากเมืองท่าของอินเดียมาประจำที่ร่างกุ้งเพื่อต่อรบกับกรุงอังวะต่อไป และแล้ววันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๑๘๒๔ เมืองร่างกุ้งก็ถูกยึดครอง แคว้นอัสสัมให้ความร่วมมือกับอังกฤษ แล้วแคว้นอารกันก็ตกอยู่ในอำนาจของอังกฤษ ราวเดือนกันยายน ๑๘๒๕ พม่าเริ่มเปิดการเจรจากับอังกฤษ เนื่องจากเมืองชายขอบอาณาจักรถูกโจมตีและเข้ายึดครองจากอังกฤษแล้ว

ในที่สุด วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๑๘๒๖ พม่าก็ยอมเซ็นสนธิสัญญากับอังกฤษ โดยต้องเสียค่าเสียหายให้กับอังกฤษ ๒๕๐,๐๐๐ ปอนด์ และต้องยอมยกแคว้นอัสสัม อารกัน ตะนาวศรี รวมถึงบางส่วนของเมาะตะมะที่ติดกับชายฝั่งให้กับอังกฤษ และห้ามพม่าแทรกแทรงทางการเมืองในเมืองกัจจาและเมืองมณีปูร อีกต่อไป

สรุปว่าศึกยกแรกกับอังกฤษร่วมสองปี ทำให้พม่าเสียดินแดนไปเกือบครึ่งหนึ่งของอาณาจักรเดิม และทำให้เกิดการแบ่งเป็นเขตพม่าอังกฤษ และอาณาจักรพม่า ดูแล้วการค้าชายฝั่งได้ตกอยู่ในมือของอังกฤษตั้งแต่ชายฝั่งอินเดียจนจรดชายฝั่งตะนาวศรี

แต่อย่าเพิ่งวางใจนะครับ ยังมีศึกยกสองระหว่างพม่า-อังกฤษมาเล่าให้ฟังในสัปดาห์หน้าครับ และเราจะได้รู้กันล่ะว่าฝรั่งเศสเข้ามาค้าขายในพม่านั้น เป็นด้วยเหตุผลทางการค้าอย่างเดียวใช่หรือไม่

 

 

 

(กลับไปข้างบน) / (กลับไปหน้าแรก)


 

[1] วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๑๘๘๗ ฝรั่งเศสผ่านกฎหมายว่าด้วยการบริหารฮาณานิคมและรัฐอารักขาในคาบสมุทรอินโดจีน โดยให้รัฐบาลของทุกรัฐอยู่ภายใต้การปกครองของข้าหลวงใหญ่ประจำอินโดจีน (Gouverneur général en Indo-Chine)  แต่จริงๆ แล้ว ฝรั่งเศสเข้ามายึดเวียดนามใต้ ในส่วนที่ฝรั่งเศสเรียกว่า “โกแชงชีนเนอ” (Cochinchine)  เป็นอาณานิคมแล้ว ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๘๕๙ ในขณะที่ กัมพูชาเซ็น สนธิสัญญาเพื่อเป็นรัฐในอารักขา (Protectorat) ของฝรั่งเศสในปี ๑๘๖๓ แคว้นอันนาม และแคว้นตังเกี๋ยยอมรับเป็นรัฐในอารักขาฝรั่งเศสในปี ๑๘๘๓ และลาว ในปี ๑๘๘๕

[2] ภาษาอังกฤษที่อยู่ในวงเล็บเป็นชื่อเรียกที่ชาวตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษเรียกพม่า ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจถ้าภาษาไทยที่เรียกชื่อพม่าต่างจากเจ้าของภาษามาก ผู้เขียนจะพยามใช้ชื่อเรียกตามที่คนไทยรู้จักหรือคุ้นชิน แต่ในกรณีที่เป็นชื่อใหม่ก็พยายามถอดจากภาษาอังกฤษ และให้วงเล็บภาษาอังกฤษกำกับไว้ด้วย

 

(กลับไปข้างบน) / (กลับไปหน้าแรก)