Petit Braudel
เรื่องที่ ๑
เมื่อฝรั่งเศสทำการค้าในอาณานิคมอังกฤษ ... พม่า
ตอนที่ ๓ ฝรั่งเศสต้องการเพียงทำการค้าในพม่าเท่านั้นหรือ ?
และแล้ว...เรื่องปฏิการทางการค้าของฝรั่งเศสที่แฝงด้วยความมุ่งหมายทางการเมืองในจักรวรรดิพม่า (Burmese Empire) ที่ปรากฏอย่างเด่นชัดในทศวรรษที่ ๗๐ ของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ก็เริ่มเข้าสู่ตอนสำคัญ ที่ว่าสำคัญก็เพราะว่าการที่ราชสำนักมัณฑะเลย์แสวงหาสัมพันธไมตรีจากเพื่อนบ้านและมหาอำนาจตะวันตกโดยเฉพาะฝรั่งเศส อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผลักดันให้อังกฤษตัดสินใจผนวกอาณาจักรพม่าทั้งหมดไว้ภายใต้บัลลังค์แห่งพระราชินีแห่งมหาจักรวรรดิแห่งอังกฤษ
สำหรับตอนนี้ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย ก่อนที่จะอำลาปีเก่า ๒๐๐๓ เราจะปิดฉากเรื่องของการทำการค้าของฝรั่งเศสในอาณาจักรพม่า ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นระยะแรกๆของการสถาปนาระบบอาณานิคมฝรั่งเศสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป ด้วยการวิเคราะห์ท่าทีของฝรั่งเศสในการดำเนินนโยบายทางการค้ากับเขตพม่า-อังกฤษ (British Burma) และราชสำนักพม่า ปริมาณการค้าและสินค้าของฝรั่งเศส จนถึงเหตุการณ์ ๑๘๘๖ ที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์พม่าในฐานะจุดอวสานแห่งระบอบกษัตริย์
*** *** *** ** * ** *** *** ***
๑. สันธิสัญญาฝรั่งเศส-พม่า (๒๔ มกราคม ๑๘๗๓) เป็นหมัน
เราคงไม่แปลกใจที่ราชสำนักพม่าเริ่มส่งราชทูตออกไปเจรจาเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศมากขึ้น หลักจากที่เมืองและแคว้นทางตอนใต้ตลอดแนวชายฝั่งถูกอังกฤษผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียไปแล้วใน ปี ๑๘๕๒ ฝรั่งเศสเป็นประเทศหนึ่งที่ราชสำนักพม่าหมายใจว่าจะได้ขอความช่วยเหลือในภาวะคับขันเกิดสงครามสู้รบกับอังกฤษอีกระลอก
แล้วทำไมต้องเป็นฝรั่งเศส เหตุผลที่หลายๆอาณาจักรในคาบสมุทรอินโดจีนรู้จักกันดีก็คือ สองชาติมหาอำนาจแห่งยุโรปนี้กำลังแข่งขันกันแสวงหาอาณานิคม ณ ช่วงทศวรรษที่ ๑๘๗๐ ถือได้ว่าอังกฤษได้ตั้งหลักปักฐานอยู่ที่อินเดียอย่างมั่นคงโดยจุดประสงค์หลักเพื่อการค้าเป็นสำคัญในขณะที่ฝรั่งเศสซึ่งแพ้สงครามสมัยนโปเลียน ในปี ๑๘๑๕ และยังแพ้สงครามกับเยอรมันปี ๑๘๗๑ อีก การเสียดินแดนโพ้นทะเลจำนวนมหาศาล ทำให้สถาบันต่างๆของฝรั่งเศส เช่น สมาคมภูมิศาสตร์ในแคว้นต่างๆ เป็นต้น ให้การสนับสนุนการแสวงหาดินแดนใหม่เพื่อชดเชย ดังนั้น กองเรือฝรั่งเศสจึงสร้างความเกรียงไกรในทะเลจีนใต้มากกว่าการพัฒนาเครือข่ายการค้าในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เราคงไม่ลืมว่า ราชสำนักพนมเป็ญก็สมัครใจอยู่ในอารักขาของฝรั่งเศสเสียตั้งแต่ปี ๑๘๖๓ ก่อนหน้านั้น ราชสำนักเว้ ซึ่งไม่สามารถต้านทานการโจมตีของกองเรือฝรั่งเศสและสเปญต้องลงนามในสนธิสัญญาปี ๑๘๖๒ ยกสามเมืองปากแม่น้ำโขงในโกแชงจีนให้ไปแล้ว และปี ๑๘๖๗ ด้วยความที่มีการลุกฮือต่อต้านฝรั่งเศสของเมืองวิงห์-ล็อง โจวฎก และฮาเตียน จึงทำให้รัฐบาลอาณานิคมแห่งโกแชงจีนฝรั่งเศสขอให้พระจักรพรรดิเวียดนามทรงลงพระปรมาภิไธยในสนธิสัญญายกเวียดนามภาคใต้ทั้งหมดให้อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลอาณานิคมฝรั่งเศสที่เมืองไซ่ง่อน สรุปว่า ณ เวลาขณะนั้น การที่ราชสำนักพม่าส่งคณะทูตไปยังกรุงปารีสเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสจึงมีนัยสำคัญทางการเมืองระหว่างประเทศเสียมากกว่าการค้าอย่างที่ฝรั่งเศสต้องการ
เราลองมาดูสักนิดว่า สนธิสัญญาสัมพันธไมตรีและการพาณิชย์[1] ลงนาม ณ กรุงปารีส วันที่ ๒๔ มกราคม ๑๘๗๓ ระหว่างฝรั่งเศสกับพม่า โดยฝ่ายฝรั่งเศสมี นายเรมุซาต์ (Rémusat) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้แทน และฝ่ายพม่ามีนายเมงกยี มหา ซายทู เกงหวุ่น เมงกยี (Mengyee Maha Saythoo Kenwoon Mengyee) ราชทูตพม่าเป็นผู้แทน มีหน้าตาอย่างไรบ้าง
สนธิสัญญาฉบับนี้มีทั้งสิ้น ๖ มาตรา โดยมาตราที่ ๑ กล่าวถึงหลักความเสรีของประชาชนทั้งสองฝ่ายในการอยู่อาศัย การสัญจร การประกอบการค้า การซื้อขายที่ดิน การใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ การปลูกสร้างอาคาร และจักต้องได้รับการคุ้มครองดูแลจากรัฐทั้งครอบครัวและทรัพย์สิน รวมถึงสิทธิประโยชน์ใดๆที่ชาวต่างชาติอื่นได้รับ ก็พึงได้รับด้วยเช่นกัน นอกจากนั้น มาตรานี้ยังกล่าวถึงการให้เสรีในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์โดยเฉพาะของมิชชันนารีฝรั่งเศส โดยรวมถึงการเดินทางภายในราชอาณาจักรพม่าของชาวฝรั่งเศสในฐานะนักวิชาการ นักภูมิศาสตร์ นักธรรมชาติวิทยา และอื่นๆ ก็ต้องได้รับการอนุญาตและอำนวยความสะดวกด้วย ซึ่งชาวพม่าก็จะได้รับสิทธินี้ด้วยเช่นกัน ข้อน่าสังเกต คือ ฝรั่งเศสไม่ได้กล่าวถึงการอนุญาตให้สงฆ์พม่าเดินทางเผยแผ่ศาสนาพุทธในฝรั่งเศส
มาตราที่ ๒ กล่าวถึง หลักความเสรีในการค้า ทั้งสองฝ่ายสามารถมีอิสระในการนำเข้าและส่งออกสินค้าโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมอื่นใดอีก นอกจากภาษีไม่เกินร้อยละ ๕ ในขณะที่สนธิสัญญาที่ลงนามกับสยามในปี ๑๘๕๖ นั้น อัตราภาษีอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ ๓ ทั้งนี้ในสนธิสัญยาฝรั่งเศส-พม่านี้ให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาในการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันให้มากขึ้น
มาตราที่ ๓ กล่าวถึง หลักการทางการทูต โดยทั้งสองฝ่ายมีสิทธิในการแต่งตั้งข้าหลวงของตนในประเทศคู่เจรจา รวมถึงการแต่งตั้งกงสุล ผู้แทนกงสุล
มาตราที่ ๔ กล่าวถึง หลักการศาล เมื่อมีคดีความระหว่างกันจะต้องให้มีคณะผู้พิพากษาคดีที่ประกอบด้วยข้าราชการของทั้งสองฝ่าย แต่ในกรณีการวิวาทในกลุ่มเดียวกันเอง ต้องให้กงสุลเป็นผู้พิจารณาคดี
มาตราที่ ๕ กล่าวถึง หลักการมรดกของชาวฝรั่งเศสและพม่าที่ถึงแก่กรรมในประเทศคู่เจรจา กงสุลจะเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดส่งมรดกแก่ผู้เป็นทายาท
มาตราที่ ๖ กล่าวถึง หลักการของการหมดอายุสัญญา สนธิสัญญานี้จะแก้ไขได้ก็ด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย และการแก้ไขจะต้องเกิดจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแสดงความจำนงก่อน ๑ ปี
ในตอนท้ายของสนธิสัญญาเพียงกล่าวว่าจะต้องลงสัตยาบรรณและนำมาแลกเปลี่ยนกันภายในหนึ่งปี และการดำเนินการใดๆตามมาตราจะเกิดขึ้นทันทีหลังการแลกเปลี่ยนสนธิสัญยากันแล้ว
จากการดูอย่างละเอียดในมาตราต่างๆ เราคงพบว่าฝรั่งเศสเองคงหวังที่จะ เอาใจ พม่า เรียกได้ว่าเมื่อฝ่ายหนึ่ง เสนอ อีกฝ่ายหนึ่งก็ สนอง แต่ถือได้ว่าเป็นสัญญาที่เน้นเรื่องการค้าเป็นหลัก ทั้งๆที่พม่าไม่มีท่าเรือของตนเองแล้ว แต่ทำไมฝรั่งเศสยังให้ความสำคัญกับพม่ามากเช่นนี้
เรามาดูเหตุผลที่ประธานาธิบดี มาค-มาอง (Mac-Mahon) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดุ๊ค แห่ง บร็อกลี (Duc de Broglie) แถลงการณ์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนา ๑๘๗๓ ช่วงหนึ่งของแถลงการณ์ให้เหตุผลว่า
ถึงแม้ว่าพม่าซึ่งถูกโอบล้อมทั้งสามด้านด้วยดินแดนในครอบครองอังกฤษและถูกกันออกจากทะเล จะไม่อยู่สถานะที่จะมีส่วนร่วมที่คึกคักในกระแสการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างประเทศได้ แต่กระนั้น เราก็ไม่ควรเพิกเฉยโอกาสที่จะอำนวยความสะดวกต่อสินค้าฝรั่งเศสในการเข้าสู่ตลาดใหม่ในตะวันออกไกล อีกด้านหนึ่ง เราเพียงแค่อาจจะสามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงความปรารถนาดีของเราที่มีต่อรัฐบาลหนึ่งซึ่งขั้นตอนต่างๆแสดงได้ประจักษ์แล้วถึงทั้งความเป็นมิตรต่อฝรั่งเศสและความมีอารยธรรมซึ่งไม่ค่อยจะได้ปรากฏให้เห็นมากนักในพวกมหาอำนาจเอเชีย [2]
นอกจากฝรั่งเศสจะเห็นว่าพม่าจเป็นประตูหนึ่งที่นำไปสู่ตลาดจีนที่ยิ่งใหญ่แล้ว เราคงไม่ลืมว่า ตั้งแต่ตะวันตก(โดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศส ตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๗) รู้จักพม่า ก็มิใช่แค่เพียงความเก่าแก่ทางอารยธรรมและยิ่งใหญ่ทางการทหารเท่านั้น หากแต่ในความรับรู้เกี่ยวกับพม่านั้น ดินแดนแถบนี้ยังมีไม้สักที่มีคุณภาพดี และแน่นอนดีกว่าไม้สักของอินเดีย ที่สำคัญยังมีความสามารถในการต่อเรือที่มีคุณภาพดีด้วย ดังนั้น เมื่อฝรั่งเศสส่งคณะสำรวจราชอาณาจักรพม่าในตอนปลายทศวรรษที่ ๑๘๗๐ ก็มีรายงานเสนอว่า ควรให้มีการสร้างทางเชื่อมต่อระหว่างเขตติดต่อระหว่างฝั่งน้ำโขงตะวันตกของพม่ากับฝั่งน้ำโขงตะวันออกของแคว้นตังเกี๋ยซึ่งฝรั่งเศสกำลังหาทางเข้ายึดครองด้วยเพราะเป็นเขตที่ติดต่อกับจีนภาคใต้
แต่อย่างไรก็ตาม โครงการทั้งหลายที่คาดคิดก็ไม่ได้เป็นอย่างที่หวังนัก เพราะสนธิสัญญาฝรั่งเศส-พม่า ๑๘๗๓ ซึ่งได้รับการลงสัตยาบรรณจากฝ่ายของราชสำนักมัณฑะเลย์ในวันที่ ๓ มีนาคม ๑๘๗๔ ไม่ได้รับการดำเนินการตามที่ระบุไว้ในสนธิสัญญา จนกระทั่งปี ๑๘๘๔ ฌุลส์ แฟร์รี (Jules FERRY) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ได้หยิบยกสนธิสัญยาเดิมขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่และเสนอให้ดำเนินการอย่างจริงจัง และประกาศแลกเปลี่ยนสัตยาบรรณกันอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๑๘๘๔
แน่นอนเหตุผลทางการเมืองที่ต้องแข่งขันกับการขยายอำนาจของอังกฤษย่อมทำให้ฝรั่งเศสต้องเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองระว่างประเทศเป็นพิเศษ พม่าเองปวารณาตัว ฝากกายหมายชีวิต ไว้กับฝรั่งเศส โดยส่งประกาศลับลงวันที่ ๒๔ พฤษภา ๑๘๘๔ จากสถานทูตพม่าประจำกรุงปารีสถึงกระทรวงการต่างประเทศ ประกาศลับฉบับนี้แสดงความจำนงที่จะให้สองประเทศมีความเป็นพันธมิตรทางการเมืองที่แน่นแฟ้นมากขึ้น กล่าวคือ ถ้าราชอาณาจักรพม่าหรือเมืองประเทศราชของพม่าถูกคุกคามโดยมหาอำนาจที่สามหรือไม่ว่าจะเป็นมหาอำนาจใดก็ตาม และถ้าได้ขอความช่วยเหลือมายังรัฐบาลฝรั่งเศสนั้น ฝรั่งเศสโดยตระหนักถึงสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างสองรัฐบาลก็พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือต่อพม่า เช่นเดียวกับที่ฝรั่งเศสถูกคุกคาม
ดูประกาศลับทั้งฉบับซึ่งมีด้วยกัน ๖ ข้อ ก็พอจะอนุมานถึงสุภาษิตที่ว่า น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า ในขณะที่ฝรั่งเศสต้องการให้พม่าเป็นเขตอิทธิพลของตนและเป็นรัฐกันชนระหว่างฝรั่งเสสกับอังกฤษ พม่าเองก็ต้องการให้ฝรั่งเศสช่วยรักษาอธิปไตยต่อการคุกคามของอังกฤษ
แต่ก่อนที่จะไปดูจุดจบของราชอาณาจักรพม่า เรามาดูก่อนว่าพม่ามีความสำคัญทางการค้ากับฝรั่งเศสอย่างไรบ้าง
๒. ความรุ่งเรืองของการค้าฝรั่งเศสในพระราชอาณาจักรพม่า ?
หลังจากที่ พม่าลงสัตยาบรรณในปี ๑๘๗๔ แล้ว ฝรั่งเศสก็ส่งคณะผู้แทนเข้ามาหลายชุด ทั้งคณะทูต คณะสำรวจ และในที่สุดก็แต่งตั้งสถานทูตประจำกรุงมัณฑะเลย์ และสถานกงสุล ณ กรุงย่างกุ้ง ในเขตปกครองของอินเดียแห่งอังกฤษ ดังนั้น ข้อมูลที่เราจะมาดูกันเกี่ยวกับการค้าต่างประเทศของพม่าก็ได้มาจากรายงานการค้าและกงสุลของทั้งสองหน่วยงานนั้นเอง
การขีดเส้นกั้นระหว่างเขตพม่าอังกฤษและพระราชอาณาจักรพม่าส่งผลกระทบโดยตรงต่อการค้าภายในดินแดนของพม่าโดยรวม ด่านศุลกากรพม่าอังกฤษอยู่ที่เมืองทาเย่ต-เมียว (Thayet-Myo) บนแม่น้ำอิระวดี และตอนเหนือขึ้นไปก็เป็นด่านศุลกากรของพระราชอาณาจักรพม่าซึ่งตั้งที่เมือง เมงฮะลา (Menhla) เป็นที่แน่ชัดว่าสินค้าต่างประเทศจะเข้าที่เมืองท่าในอ่าวเบงกอลและอ่าวเมาะตะมะเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นเขตพม่าอังกฤษจึงมีความคึกคักมากทางการค้าในขณะที่เขตพม่าตอนบนเองก็พึ่งสินค้าขาเข้าที่ผ่านมาทางเขตพม่าตอนล่าง โดยเฉพาะ สินค้าประเภทเสื้อผ้า
จากการสำรวจของกงสุลฝรั่งเศสปี ๑๘๘๔ เราพบว่ามีชาวฝรั่งเศสตั้งหลักปักฐานในแถบพม่าตอนล่างโดยเฉพาะเมืองสำคัญๆ เช่น ย่างกุ้ง เปกู ๒๔ ครอบครัว โดยที่ ๕ คนในจำนวนนี้เป็นพ่อค้าและเป็นเจ้าของโรงจักรสีข้าวในเวลาเดียวกัน ที่น่าสังเกตคือ ที่นี่มีนักวิศวกรถึง ๔ คน ครูสอนภาษาฝรั่งเศส ๑ คน และ ครูสอนคณิตศาสตร์อีก ๑ คน ถ้าเปรียบเทียบกันแล้วที่นี่มีครอบครัวฝรั่งเศสมากกว่าในสยามโดยเฉพาะชาวฝรั่งเศสที่ทำงานทางด้านการพัฒนาและเศรษฐกิจ ในขณะที่ในสยามจะมีมิชชันารีมาตั้งหลักปักฐานมากกว่า
สำหรับในพระราชอาณาจักรพม่าในปีเดียวกัน มีชาวฝรั่งเศสที่ตั้งถิ่นฐานที่กรุงมัณฑะเลย์ทั้งหมด ๑๓ ครอบครัว ในจำนวนนี้ ๔ คนเป็นพ่อค้า มีวิศวกร ๒ คน เจ้าหน้าที่ทหารม้า ๒ คน เป็นที่น่าสังเกตว่าที่นี่มีแม้กระทั่งช่างถ่ายภาพ ช่างแกะสลักหิน ซึ่งดูว่าน่าจะเน้นเรื่องศิลปวัฒนธรรม เพราะเราคงไม่ลืมว่าอารยธรรมมอญพม่ารุ่งเรืองมาตั้งแต่อาณาจักรศรีเกษตรที่เมืองโพรม (Prome) ในราวต้นๆคริสต์กาล
พม่าเป็นประเทศกสิกรรมที่มีผลผลิตมหาศาล โดยเฉพาะข้าว ไม้สัก และเปลือกไม้สำหรับย้อมสีที่มีคุณภาพดี นอกจากนี้ก็ยังมีฝ้าย ยาสูบ น้ำตาล รวมถึงเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ เราอาจกล่าวได้ว่าการเข้ามาของอังกฤษทำให้การจัดการเรื่องการค้าข้าวและการค้าไม้สักเป็นระบบและที่สำคัญยังบันทึกสถิติไว้ด้วย อย่างเช่น ระหว่างเมษายน ๑๘๘๓- มีนาคม ๑๘๘๔ พม่าอังกฤษส่งออกข้าว ๗๙.๘๒ %ไม้สัก ๗.๖๘ % และไม้ย้อมสี ๓.๙๔ % ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
เป็นที่น่าสังเกตว่านอกจากพม่าอังกฤษจะส่งออกข้าวส่วนใหญ่ที่ผลิตได้ไปยุโรปและอเมริกา รองลงมาก็เป็นอินเดีย จีน และกลุ่มเกาะในแถบช่องแคบมะละกาแล้ว พม่าอังกฤษยังส่งออกข้าวเข้าไปยังเขตพม่าตอนเหนืออีกด้วย[3] ซึ่งนี่อาจเป็นสิ่งที่จะพิสูจน์ได้ว่าเขตพม่าตอนล่างเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของมหาอาณาจักรพม่าแต่เดิมนั่นเอง
ฝรั่งเศสเองก็เป็นลูกค้าข้าวของพม่าด้วยเช่นกัน แต่การส่งข้าวมาที่เมืองมารฺแซยนั้นก็เพื่อส่งต่อไปยังเมืองต่างๆ ในทะเลเมดิเตอเรเนียน ถึงแม้ว่ารายงานของสถานกงสุลฝรั่งเศสไม่ได้จำแนกออกมาว่าสินค้าฝรั่งเศสมูลค่าเท่าใดที่เข้ามาในดินแแดนของพม่านี้ แต่รองกงสุลวัสซงก็ยืนว่าสินค้าประเภทเครื่องประดับเงินทอง และงานฝีมือสวยงามทั้งหลายฝรั่งเสสได้เข้ามาครองตลาดเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะลูกค้าที่เป็นราชวงศ์ ข้าราชการ และบุคคลที่มีฐานะดีของสังคม เรื่องนี้ก็เป็นปรากฏการณ์เดียวกันที่สามารถพบเห็นได้ในราชอาณาจักรสยาม และกัมพูชา เนื่องจากฝรั่งเศสมักผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง ทนทาน และแน่นอนราคสูงมากกว่าสินค้าประเภทเดียวกันจากประเทศอื่น ในตัวอย่างของสยามในช่วงทศวรรษที่ ๑๙๐๐ ก็เริ่มมีบทความตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษว่า สินค้าฝรั่งเศสไม่สามารถตีตลาดในวงกว้างหรือตลาดประชาชนธรรมดาได้ และในที่สุดผู้แทนการค้าฝรั่งเศสก็ต้องปิดกิจการไปในที่สุด และฝรั่งเศสต้องนำสินค้าของตนวางขายในร้านค้าของชาติยุโรปอื่นๆ เช่น เดนมาร์ก และเยอรมัน เป็นต้น
ในปี ๑๘๘๓ ฝรั่งเศสมีโครงการหลายอย่างที่ให้พระราชอาณาจักรพม่าเซ็นสัญญาอนุมัติ เช่น การกระจายสินค้าฝรั่งเศสในพระราชอาณาจักร การสร้างถนนเชื่อมระหว่างกรุงมัณฑะเลย์กับเมืองเคียง-ฮุง (หรือ เชียงรุ่ง ในภาษาไทย) สัมปทานเหมืองแร่เหล็ก และการเชื่อมโยงทางการค้าระหว่างอินโดจีนฝรั่งเศสกับดินแดนพม่าตอนบนและจีนยูนนาน เป็นต้น
แน่นอนว่า พฤติกรรมของฝรั่งเศสทั้งในเขตพม่าอังกฤษและพระราชอาณาจักรพม่าทำให้อังกฤษเริ่มกังวลว่าฝรั่งเศสจะแผ่อิทธิพลข้ามน้ำโขงทางตังเกี๋ยเข้าสู่พม่า และนั่นก็หมายความว่าฝรั่งเศสก็จะกลายเป็นมหาอำนาจตะวันตกเพียงชาติเดียวที่มีเขตอิทธิพลติดต่อกับแผ่นดินจีนที่มีพื้นที่และจำนวนประชากรจำนวนมหาศาล และการที่พม่าส่งสารลับถึงฝรั่งเศสในการขอเป็นพันธมิตรทางการเมืองที่ต่างฝ่ายมีภาระหน้าที่ในการปกป้องอธิปไตยซึ่งกันและกัน ก็ยิ่งเป็นชนวนที่สำคัญให้รัฐบาลอังกฤษทั้งที่อินเดียและลอนดอนเริ่มปฏิบัติการทางทหารอีกครั้งกับพระราชอาณาจักรพม่า
กองทัพอังกฤษยึดกรุงมัณฑะเลย์ในเดือนพฤศจิกายน ๑๘๘๕ และหลังจากนั้นไม่นานรัฐบาลอังกฤษของพระราชินีวิคตอเรีย ณ กรุงลอนดอนก็ประกาศให้ดินแดนพม่าทั้งหมดเป็นจังหวัดหนึ่งของอินเดียและอยู่ภายใต้การปกครองของข้าหลวงใหญ่อังกฤษ ณ กรุงย่างกุ้ง ส่วนพระราชวงศ์พม่าถูกพระองค์ให้เนรเทศไปยังอินเดีย และนี่ก็นับเป็นจุดจบของพระราชอาณาจักรพม่า ซึ่งผลที่ตามมาจนถึงปัจจุบันก็คือความแตกแยกของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในพม่าไม่สามารถรวมตัวเพื่อการปกครองอย่างมีเอกภาพได้จนถึงปัจจุบัน
เราอาจสรุปได้ว่า การค้าของฝรั่งเศสในพม่านั้นจะรุ่งเรืองหรือไม่อย่างไรก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางการเมืองมากนัก แต่อยู่ที่ตัวสินค้าทั้งชนิด ราคา ความสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า และจำนวนเสียมากกว่า เราจะเห็นว่าถึงแม้พม่าตอนล่างจะเป็นของอังกฤษ แต่ก็มีพ่อค้าและช่างเทคนิคชั้นสูงของฝรั่งเศสประจำอยู่มากกว่าในเขตพม่าตอนบนซึ่งเป็นเขตที่ฝรั่งเศสน่าจะมีอิทธิพลมากกว่าชาติตะวันตกอื่นๆ แต่ด้วยความกระตือรือร้นของการแข่งขันเพื่อครอบครองพื้นที่ตลาดในเอเชียของสองมหาอำนาจยุโรปก็เลยทำให้พระอาณาจักรพม่ากลายเป็นเดิมพันและหมากตัวสำคัญทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่างนี้ก็เข้าตำราที่ว่า แล้วหญ้าแพรกก็แหลกลาญ...
*** *** *** *** *** ** * ** *** *** *** ***
(กลับไปข้างบน) / (กลับไปหน้าแรก)
[1] ภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า Traité damitié et de commerce conclu à Paris, le 24 janvier 1873, entre la France et la Birmanie
[2] « Bien que la Birmanie, enclavée de trois côtés dans les possessions anglaises qui la séparent de la mer, ne soit pas en situation de prendre une part bien active au mouvement général des échanges internationaux, nous ne devions pas cependant négliger cette occasion de faciliter aux marchandises françaises laccès dun nouveau marché dans lExtrême-Orient ; dun autre côté, nous ne pouvions que faire preuve de bon vouloir envers un Gouvernement dont la démarche témoignait, à la fois de ses sympathies pour la France et de tendances civilisatrices qui ne sauraient être trop encouragées chez les Puissances Asiatiques. » Cité L. de REINACH, Recueil des traités conclus par la France en Extrême-Orient (1684-1902), Paris, 1902, p. 145.
[3] ปี ๑๘๘๐ ส่งออกข้าวไปเขตพม่าตอนบนจำนวน ๕.๖๗๗ ตัน
ป๊ ๑๘๘๒ จำนวน ๕.๒๔๓ ตัน
ปี ๑๘๘๓ จำนวน ๓๙.๗๖๔ ตัน
ปี ๑๘๘๔ จำนวน ๓๗.๘๔๐ ตัน
ปี ๑๘๘๕ จำนวน ๙๖.๐๐๐ ตัน
(กลับไปข้างบน) / (กลับไปหน้าแรก)