หน้าแรก เปิดตัว ฝรั่งเศส-พม่า๑ ฝรั่งเศส-พม่า๒ ฝรั่งเศส-พม่า๓ โสเภณีฯ

จดหมายเหตุความสัมพันธ์ยุโรป-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Petit Braudel 

เรื่องที่ ๑

เมื่อฝรั่งเศสทำการค้าในอาณานิคมอังกฤษ ... พม่า

  

ตอนที่ ๒    ก่อนที่พม่าจะถูกผนวกเป็นจังหวัดหนึ่งของอินเดียแห่งอังกฤษ ... แล้วฝรั่งเศสก็เข้ามา !?!

 

                                เมื่อตอนที่แล้ว จดหมายเหตุความสัมพันธ์ยุโรป-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของเราจบลงที่ พม่าต้องยอมเซ็นสนธิสัญญาสงบศึก “ํยันดาโบ (Yandabo ยอมยกเมืองย่างกุ้งและเมืองสำคัญอื่นๆต่อการค้าชายฝั่งให้กับอังกฤษพร้อมด้วยเงินค่าปฏิกรณ์สงครามอีกหนึ่งล้านปอนด์ (จ่ายทันทีจำนวนหนึ่งในสี่) เราจะเห็นว่า ในขณะที่พม่าพยามขยายเขตอิทธิพลของตนเข้าเขตติดต่ออินเดียเพื่อเหตุผลทางการเมืองเชิงอุดมคติ อังกฤษกลับให้ความสำคัญกับการขยายเขตอิทธิพลด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจการค้ามาเป็นอันดับแรก ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่อังกฤษขอเมือง บาสแซง (Bassein)  ย่างกุ้ง (Rangoon) ซึ่งอยู่ปากแม่น้ำอิระวดี เมืองมะละแหม่ง (Moulmein) ซึ่งอยู่ปากน้ำสาละวิน  เมืองทวาย (Tavoy) และเมืองมะริด (Mergui) แนวชายฝั่งเทือกเขาตะนาวศรีด้านตะวันตก  สรุปว่าจนถึงปี ๑๘๒๔ พม่าได้แบ่งเป็นสองเขตอิทธิพล คือ เขตของอังกฤษในพม่าตอนล่าง และเขตของราชสำนักอังวะ ซึ่งอยู่ในเขตของพม่าตอนบน

                                สำหรับตอนนี้ เราจะเข้าไปดูว่าศึกพม่า-อังกฤษครั้งที่สองปี ๑๘๕๒ เกิดขึ้นได้อย่างไร และก่อนจะเกิดศึกพม่า-อังกฤษครั้งที่สามปี ๑๘๘๕ ซึ่งเป็นครั้งที่พม่าต้องตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษอย่างสมบูรณ์ (โดยการยกเลิกระบบราชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง) นั้น ฝรั่งเศสเข้ามาในพม่าได้อย่างไร และเขาตั้งใจจะมาทำอะไรที่ดินแดนแถบนี้ หรือตรงจุดก็คือ เขตอิทธิพลของราชสำนักพม่านั่นเอง

 

*** ********** ***

 

                                จากสนธิสัญญาฉบับยินดาโบ อังกฤษมีสิทธิในการแต่งตั้งข้าหลวงอังกฤษ (Resident) ประจำ ณ กรุงอังวะ เพื่อสะดวกในการติดต่อเจรจากับราชสำนักพม่าโดยตรง ข้าหลวงอังกฤษคนแรกไม่ใช่ใครอื่นไกล ชาวสยามรู้จักดีในนามของ “ยอน กะลาฟัด” (John Crawfurd) เขาเข้ามาถึงกรุงอังวะเมื่อเดือนกันยายน ปี ๑๘๒๖  เขาเป็นคนที่มีความกระหายใคร่รู้เรื่องของคนและเมืองที่เขาได้มีโอกาสเข้าไป เรียกได้ว่าเป็น “นักตะวันออกศึกษา” (Orientalist) ที่สำคัญคนหนึ่งทีเดียว หน้าที่ของเขาในอังวะคือการเจรจาสนธิสัญญทางการค้า และรายงานความเป็นไปได้ในการขอให้มีการแต่งตั้งข้าหลวงถาวร ณ ราชสำนักพม่า แต่ภาระกิจของเขาก็ไม่สมหวังทั้งสองเรื่อง

                                ในปี ๑๘๓๐ อังกฤษส่ง “นายหันแตร บารานี” (Henry Burny) ที่ชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์จักรี รู้จักกันดี มาดำรงในตำแหน่งข้าหลวงอังกฤษประจำ กรุงอังวะ เขาได้สร้างความสัมพันธ์อันดีกับองค์พระปะกยีดาว (Bagyidaw) พระมหากษัตริย์พม่า เพราะเขาได้เจรจาข้อพิพาทให้กับราชสำนักอังวะชนะความในหลายเรื่อง แต่น่าเสียดายที่องค์พระถาราวดี (Tharawadi) กษัตริย์องค์ต่อมาที่ทรงมีพระราโชบายในการต่างประเทศที่แข่งกร้าว พระองค์ได้ทรงยกเลิกสนธิสัญญายันดาโบ ทรงเสด็จประพาสเมืองย่างกุ้งในปี ๑๘๔๑ เพื่อแสดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพแห่งกองทัพพม่า ในปี ๑๘๔๕ พระราชโอรสองค์โตปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนาม องค์พระปะกันมิน (Pagan Min) พระองค์ทรงสนพระทัยในเรื่องของการเมืองในราชสำนักมากเสียกว่าการปกครองพระราชอาณาจักรและการค้าขาย เจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่นก็ปฏิบัติหน้าที่ตามอำเภอใจมากว่าการดูแลทุกข์สุขประชาราษฎร์ ตราบใดที่ยังส่งภาษีให้กับราชสำนัก ความมั่นคงของตำแหน่งก็มีมาก ดังนั้นเจ้าเมืองต่างๆ ย่อมมีการสะสมกำลังและอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การกระทบกระทั่งกันระหว่างหัวเมืองพม่ากับเมืองพม่าในเขตอิทธิพลอังกฤษจึงหลีกเลี่ยงได้ยาก

                                และแล้ว ในปี ๑๘๕๑ ชนวนของสงครามก็เกิดขึ้นเมื่อ เจ้าเมืองเปกูหรือหรรษาวดีผู้แหนงหน่ายอิทธิพลอังกฤษได้จับกุมกัปตันเรือชาวอังกฤษ ๒ คน ในข้อหาสังหารลูกเรือ และให้เสียค่าปรับเป็นเงินจำนวนมาก เรื่องนี้ไปถึงรัฐบาลอินเดีย ข้าหลวงใหญ่แห่งอังกฤษเตรียมแผนยกเลิกข้อเรียกร้องของพม่าโดยตอบว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แล้วก็ส่งผู้แทนลงเรือรบไปเจรจาพร้อมกับเรือกลไฟอีกสองลำยังเมืองย่างกุ้ง อังกฤษเรียกร้องให้ราชสำนักอังวะถอดถอนเจ้าเมือง ทางฝ่ายพม่ายินยอมเปลี่ยนเจ้าเมือง แต่การแต่งตั้งเจ้าเมืองคนใหม่ก็มีเพื่อการสะสมกองกำลังให้เข้มแข็ง เช่นเดียวกับการตระเตรียมกำลังที่ไว้ที่เมืองบาสแซน และเมืองเมาะตะมะ แน่นอน ราชสำนักอังวะเชื่อว่ากองกำลังพม่าสามารถต่อกรกับอังกฤษได้

                                ผู้แทนอังกฤษไม่มีนโยบายที่จะเจรจากับพม่าสันติวิธีเช่นกัน เมื่อเขาได้สั่งให้โจมตีเรือพายที่ใช้ในการรบของพม่าในอ่าวย่างกุ้งเรียบร้อย เขาก็แล่นเรือกลับกัลกัตตาและเตรียมการรบกับพม่าอีกครั้ง ในเดือนเมษายน ๑๘๕๒ ทางรัฐบาลอินเดียเรียกร้องให้พม่าจ่ายค่าเสียหายในการรบกับพม่าที่ผ่านมา แต่ไม่มีการตอบจากราชสำนักพม่า แล้วหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันกองกำลังของอังกฤษก็เข้ายึดย่างกุ้งและเมาะตะมะได้ แล้วสงครามก็เปิดฉาก

                                จนถึงเดือนธันวาคม ๑๘๕๒ กองทัพอังกฤษก็สามารถปราบปราบการลุกฮือของเมืองต่างๆในเขตพม่าได้ และเข้าถึงเมืองอมระปุระ ในขณะที่ราชสำนักอังวะก็มีเรื่องวุ่นวาย พระองค์ชายมินดงผู้อยู่ฝ่ายค้านต่อการประกาศสงคามกับอังกฤษตั้งแต่แรกก็ทรงลอบลี้ภัยออกราชสำนักแล้วทรงออกบรรพชา แล้วสงครามกลางเมืองก็ปะทุขึ้น   ในเดือนกุมภาพันธ์ ๑๘๕๓ ข้าราชการชั้นสูงของราชสำนักก็ขอให้องค์พระปะกันมินสละราชสมบัติ แล้วอัญเชิญพระองค์ชายมินดงขึ้นครองราชย์แทน

                                ส่วนอังกฤษได้ขอผนวกดินแดนพม่าตอนล่างทั้งหมด (เมืองท่าปากแม่น้ำและพื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งทั้งหมด พร้อมด้วยจังหวัดพุกาม) ให้อยู่ในการปกครองของอังกฤษ

                                ในรัชสมัยของกษัตริย์มินดง (๑๘๕๓-๑๘๗๖) นี่เองที่พม่าย้ายราชธานีมาที่เมืองมัณฑะเลย์ นอกจากนั้นพระองค์ปรับท่าทีต่อนโยบายการต่างประเทศหลายประการ พระองค์ทรงส่งคณะทูตเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศมากขึ้น เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย เป็นต้น พร้อมกันนี้ พระองค์ทรงให้มีการปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัยตามแบบตะวันตกด้วย

                                ฝรั่งเศสก็เริ่มเข้ามามีความสัมพันธ์กับพม่าอย่างเป็นทางการก็รัชสมัยขององค์พระมินดงนี่เอง แต่ไม่มีการเซ็นสัญญาใดๆในสมัยของพระองค์ มีเพียงการส่งราชทูตไปปารีสในปี ๑๘๗๓ เท่านั้นฝรั่งเศสมาเอาจริงกับพม่าก็เมื่อส่งนาย หลุยส์ วอสซิยง (Louis VOSSION) มาสำรวจในปี ๑๘๗๗ ปีแรกแห่งการครองราชย์ขององค์พระธิบาว (Thibaw) และเขาก็ได้เป็นทูตฝรั่งเศสประจำย่างกุ้งเป็นคนแรก ตั้งแต่ปี ๑๘๘๓

                                จากรายงายของวอสซิยงที่เสนอต่อสมาคมภูมิศาสตร์แห่งมารฺแซย เมื่อปี ๑๘๗๘ ทำให้เราทราบว่า ฝรั่งเศสมีความพยายามที่จะเชื่อมเส้นทางการค้าจากแคว้นตังเกี๋ยของเวียดนามเพื่อจะต่อเข้ามณฑลยูนยานของจีนตอนใต้ แต่ในขณะที่พม่านั้นต้องการให้ฝรั่งเศสและมหาอำนาจอื่นๆมาถ่วงดุลอำนาจของอักฤษพม่า แต่อย่างไรก็ตามกษัตริย์ธิบาวก็ทรงถูกบังคับให้เจรจาทางการค้ากับฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการตลอดช่วงเวลาของการปฏิบัติหน้าที่ของทูตวอสซิยง ตั้งแต่ปี ๑๘๘๓ นั้นเอง

                                สรุปว่า  ก่อนที่อาณาจักรพม่าตอนบนจะถูกผนวกดินแดนให้เป็นอาณานิคมของอังกฤษ โดยดำรงสถานะเป็นจังหวัดหนึ่งของจักรวรรดิอินเดียแห่งเครือจักรภพสหราชอาณาจักร ในปี ๑๘๘๖ ฝรั่งเศสได้ให้ความสนใจพม่ามากขึ้นเมื่อนายทหารเรือฝรั่งเศส ฟรานซิส  การฺนีเย ค้นพบว่าสามารถใช้แม่น้ำแดงเป็นเส้นทางเดินทางเข้าสู่แผ่นดินจีนอันไพศาลได้ และการเชื่อมต่อกับอาณาจักรพม่าตอนบนได้ก็จะทำให้ฝรั่งเศสเป็นมหาจักรวรรดิที่ร่ำรวยจากการค้าในคาบสมุทรอินโดจีนและตะวันออกไกล

 

                                เอาล่ะครับ ครั้งหน้าเราจะมาดูกันว่า ฝรั่งเศสมาขายอะไรในพม่า แล้วสินค้าฝรั่งเศสจะขายได้มากขนาดไหนเมื่อเทียบกับสินค้าของอังกฤษเจ้าอาณานิคม ไว้พบกันนะครับ

                               

 

(กลับไปข้างบน) / (กลับไปหน้าแรก)


 

[1] วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๑๘๘๗ ฝรั่งเศสผ่านกฎหมายว่าด้วยการบริหารฮาณานิคมและรัฐอารักขาในคาบสมุทรอินโดจีน โดยให้รัฐบาลของทุกรัฐอยู่ภายใต้การปกครองของข้าหลวงใหญ่ประจำอินโดจีน (Gouverneur général en Indo-Chine)  แต่จริงๆ แล้ว ฝรั่งเศสเข้ามายึดเวียดนามใต้ ในส่วนที่ฝรั่งเศสเรียกว่า “โกแชงชีนเนอ” (Cochinchine)  เป็นอาณานิคมแล้ว ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๘๕๙ ในขณะที่ กัมพูชาเซ็น สนธิสัญญาเพื่อเป็นรัฐในอารักขา (Protectorat) ของฝรั่งเศสในปี ๑๘๖๓ แคว้นอันนาม และแคว้นตังเกี๋ยยอมรับเป็นรัฐในอารักขาฝรั่งเศสในปี ๑๘๘๓ และลาว ในปี ๑๘๘๕

[2] ภาษาอังกฤษที่อยู่ในวงเล็บเป็นชื่อเรียกที่ชาวตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษเรียกพม่า ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจถ้าภาษาไทยที่เรียกชื่อพม่าต่างจากเจ้าของภาษามาก ผู้เขียนจะพยามใช้ชื่อเรียกตามที่คนไทยรู้จักหรือคุ้นชิน แต่ในกรณีที่เป็นชื่อใหม่ก็พยายามถอดจากภาษาอังกฤษ และให้วงเล็บภาษาอังกฤษกำกับไว้ด้วย

 

(กลับไปข้างบน) / (กลับไปหน้าแรก)