P2P : ความท้าทายใหม่ของกฎหมายลิขสิทธิ์
                                                                   โดย จิรวัฒน์ จงสงวนดี
 

(กลับไปหน้าแรก) / (กลับไปสารบัญบทความ)

คลิ้กเพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ

 

               จากบทความทางกฎหมายของ ดร. Frédéric Sardain ซึ่งมีอาชีพเป็นเป็นทนายความเขียนวิเคราะห์คำพิพากษาไว้ใน Recueil DALLOZ เล่ม 5 ปี 2004 เรื่อง Du déplombage aux logiciels peer-to-peer: l'histoire sans fin? (à propos de l'arrêt KaZaA)...มีประเด็นที่น่าสนใจและพูดถึงหลายประการ เห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจและจะขอนำมาคุยกันในครั้งนี้นะครับ...

                ข้อมูลในที่นี้นอกจากจะมีข้อมูลมาจากบทความด้งกล่าวแล้ว ผู้เขียนได้นำข้อมูลจากบทความตามวารสารอินเตอร์เน็ตของฝรั่งเศส และจากประสบการณ์ของผู้เขียนเองมาประกอบด้วยเพราะเห็นว่า
่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าการวิเคราะห์แต่คำพิพากษาเท่านั้น

                โดยจะขอกล่าวออกเป็น 2 ส่วน ในส่วนแรกจะขอกล่าวถึงระบบ P2P ก่อนเพราะ การจะเข้าใจถึงคำพิพากษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้จักและเข้าใจถึงระบบการทำงานของโปรแกรมนี้ หลังจากนั้นจะได้กล่าวถึงประเด็นตามคำพิพากษาต่อไป

 

P2P

            ในการพิจารณาระบบ P2P นั้นในเบื้องต้นจะกล่าวถึง ระบบ P2P โดยทั่วไปเพื่อให้เข้าใจถึงการทำงานของระบบ และประเภทของโปรแกรม P2P หลังจากนั้นจะได้กล่าวถึงตัว P2P ที่เป็นปัญหาในกรณีนี้ ซึ่งได้แก่โปรแกรม KaZaA ต่อไป

                P2P หรือเรียกในชื่อเต็มว่า peer-to-peer อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า เป็น technology  ว่าด้วยเครื่องติดต่อกันเองโดยไม่ต้องผ่าน server แต่ในทางปฏิบัติบางระบบอาจต่อ server เพื่อขอ list ผู้ใช้รายอื่น

                P2P มีหลายอย่างด้วยกัน เช่น P2P ในการคำนวณก็มีโปรแกรม seti@home  ในกรณีใช้ในการติดต่อสื่อสารหรือ P2P message instant  เช่น โปรแกรม MSN หรือโปรแกรมYahoo messenger ที่เครื่องสองเครื่องสามารถสื่อสารกันได้โดยตรง และ  P2P ที่มีปัญหาที่จะพูดถึงในที่นี้ก็คือ P2P file sharing

P2P file sharing เป็นระบบแบ่งปันไฟล์ข้อมูลหรือโปรแกรมต่าง ๆ ของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ที่ติดต่อเชื่อมโยงกันเป็นระบบเครือข่าย โดยในที่นี้จะขอกล่าวถึงระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เนื่องจาก เรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นกรณีเฉพาะ P2P file sharing  เท่านั้น ต่อไปจึงขอเรียก P2P file sharing สั้น ๆ ว่า P2P


            จากในรูปเมื่อทุกคนเข้าสู่ระบบที่สามารถติดต่อกันได้แล้ว ผู้ใช้แต่ละรายก็จะสามารถเข้าถึงไฟล์ข้อมูล ไฟล์เอกสาร หรือโปรแกรมของกันและกันได้ ซึ่งเมื่อผู้ใช้แต่ละรายสามารถเข้าถึงไฟล์ หรือโปรแกรมดังกล่าวได้แล้ว ก็สามารถที่จะดาว์นโหลดข้อมูลหรือโปรแกรมต่าง ๆ ไปเป็นของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็น MP3 เกม ภาพยนตร์ หนังสือ คู่มือต่าง ๆเป็นต้น....ส่วนการที่จะเข้าไปถึงข้อมูลของผู้อื่นได้เพียงใดนั้นก็แล้วแต่ P2P แต่ละอัน หรือแต่ละโปรแกรม

            โดยโปรแกรม P2P ที่ได้รับความนิยมจากการจัดลำดับของหนังสือวารสารอินเตอร์เน็ตในฝรั่งเศสล่าสุดเรียงตามความนิยมดังนี้
                                        1.
KaZaA
                                        2. Overnet (eDonkey)
                                        3. WINMX
                                        4. Bit Torrent
                                        5. eCHANBLARD(eMULE)

            จากการทดสอบพบว่าโปรแกรมแต่ละตัวมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

โปรแกรม ระบบค้นหา ความเร็วในการโหลด ปัญหาไวรัสและ spyware ความเห็น
KaZaA เร็ว-ใช้ง่าย เร็ว มี + ไฟล์ปลอม เวอร์ชั่น lite จะพบปัญหาน้อยกว่า
Overnet (eDonkey)

เร็ว

ปานกลาง

มี spyware มาก

-

WINMX

เร็ว

เร็ว

ไม่มี

ไฟล์ยังน้อยเมื่อเทียบกับ KaZaA

Bit Torrent ไม่มี เร็วที่สุด ไม่มี มีเวอร์ชั่นพัฒนาโดยคนไทย
eCHANBLARD(eMULE)

มี

ช้ามาก

ไฟล์ปลอม

การโหลดช้ามาก

            ในที่นี้จะขอกล่าวถึง KaZaA เพราะได้ชื่อว่าเป็น P2P ที่มีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่นิยมของนักท่องเน็ตสะสมของฟรีทั้งหลาย และเป็นโปรแกรมที่มีคำพิพากษาของศาลสูงเป็นบรรทัดฐานไว้แล้วซึ่งจะเป็นประเด็นในการพูดคุยกันในวันนี้

 

KaZaA  

            KaZaA เป็นโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นโดย Sharman Networks Sharman Networks Limited ที่ตั้งขึ้นในปี 2002 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ Sydney, Australia ซึ่งในเวบทางการของโปรแกรมได้โฆษณาว่ามีการดาว์นโหลดถึง 1.9 ล้านในแต่ละสัปดาห์ โดยปัจจุบันเวบทางการอยู่ที่ 
http://www.kazaa.com/us/index.htm

ผู้ที่ต้องการใช้สามารถดาว์นโหลดโปรแกรมได้ที่เวบดังกล่าว โดยตัวโปรแกรมจะมีทั้งแบบให้ใช้ฟรี และแบบที่ต้องซื้อ

ในแบบให้ใช้ฟรีนั้น ปกติจะมีโฆษณาแทรกมาที่ตัวโปรแกรมดาว์นโหลดด้วย และระบบบางระบบที่เป็นระบบอำนวยความสะด้วยจะถูกตัดออกไป

อย่างไรก็ดีมีนักพัฒนาโปรแกรมได้พัฒนาตัว
lite ขึ้นมาโดยในโปรแกรมดังกล่าวจะตัดโฆษณาและเพิ่มระบบอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เข้ามา โดยสามารถหาดาว์นโหลดได้จากเวบอื่น ๆที่เปิดให้ดาว์นโหลด นอกจากนี้ยังมีตัวเสริมหรือ Plug In อื่น ๆ อีกมาก เพื่อเป็นการเสริมประสิทธิภาพในการทำงานของระบบ

            โดยที่โปรแกรม
KaZaA นี้จะทำให้เครื่องที่เชื่อมโยงกับระบบเครือข่าย(อินเตอร์เน็ต)สามารถมองเห็นไฟล์ของผู้ที่มีโปรแกรม KaZaA เหมือนกัน และสามารถดาวน์โหลดโปรแกรมดังกล่าวมาเก็บไว้ใช้ได้ ในขณะเดียวกันผู้มีโปรแกรม KaZaA ก็สามารถเข้ามาดาวนโหลดไฟล์หรือโปรแกรมที่เราต้องการแบ่งปันได้เช่นกัน

            วิธีใช้ : เมื่อทำการติดตั้งโปรแกรมเรียบร้อยแล้ว โปรแกรมจะถามถึงไฟล์ที่เราต้องการแลกเปลี่ยน โดยการกำหนดอาจเลือกแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือโปรแกรมทั้งหมดที่เรามีอยู่ หรือกำหนดให้แลกเปลี่ยนเพียงบางส่วนได้(โดยการระบุโฟลเดอร์หรือตำแหน่งที่อยู่ของไฟล์ที่ต้องการแลกเปลี่ยนกับผู้อื่น)

            เมื่อทำการติดตั้งและเลือกตำแหน่งแลกเปลี่ยนไฟล์แล้ว(ในกรณีที่มีระบบป้องกันอื่น ๆ เช่น Firewall ต้องระบุให้โปรแกรม KaZaAติดต่อเครือข่ายจึงจะสามารถเชื่อมโยงกับผู้อื่นในระบบอินเตอร์เน็ตได้) ผู้ใช้ก็สามารถที่จะเปิดโปรแกรมขึ้นใช้งานได้

            การค้นหาไฟล์
KaZaA จะมีระบบการค้นหาไฟล์ที่มีประสิทธิภาพสูงและถ้าหากต้องการให้มีการเชื่อมโยงการค้นหากับ google ก็สามารถทำได้ด้วย ซึ่งระบบการค้นหาไฟล์ของ KaZaA นี้นับได้ว่าเป็นจุดแข็งของโปรแกรมนี้เพราะสามารถค้นหาได้อย่างรวดเร็ว และจำนวนมาก(ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้โปรแกรมนี้จำนวนมากทำให้จำนวนไฟล์ที่นำมาแบ่งปันกันมีจำนวนที่มากขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน)
            เมื่อเลือกชื่อไฟล์ที่ต้องการจะค้นหาแล้วระบบก็จะตรวจสอบจากไฟล์ของผู้ใช้โปรแกรม
KaZaA รายอื่นที่ออนไลน์และเปิดโปรแกรมนี้อยู่ เมื่อKaZaA พบไฟล์ที่ต้องการก็จะแสดงชื่อไฟล์พร้อมทั้งรายละเอียด เช่น ขนาดไฟล์ จำนวนผู้ที่เราสามารถดาว์นโหลดได้ ความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูล และเวลาที่ต้องใช้ในการดาว์นโหลดโดยประมาณ เป็นต้น

ระบบการค้นหาของโปรแกรมที่ต้องซื้อจะไม่มีโฆษณา และมีระบบพิเศษมาก กว่าโปรแกรมฟรี

ระบบการค้นหาของโปรแกรมฟรี จะเห็นว่ามีโฆษณาที่ด้านล่างซ้าย

 
              การเริ่มดาวน์โหลดไฟล์ เมื่อเลือกได้แล้วก็ดับเบิ้ลคลิ้กที่ไฟล์ที่ต้องการ ระบบก็จะเริ่มการดาวน์โหลดไฟล์จากเครื่องของผู้ใช้รายอื่น
โดยตรง โดยใน 1 ไฟล์อาจจะดาวน์โหลดจากผู้ใช้อื่นหลายคนพร้อม ๆ กัน(ขึ้นอยู่กับจำนวนของผู้ที่มีไฟล์ที่เราต้องการ และจำนวนที่ KaZaA ตรวจพบ)
            ในการดาวน์โหลดครั้งหนึ่ง ๆ สามารถดาวน์โหลดไฟล์พร้อม ๆ กันได้หลายไฟล์ โดย
KaZaA จะแสดงให้เห็นว่าเราดาวน์โหลดจากผู้ใช้ KaZaA รายใดบ้าง(ปกติจะใช้ชื่อปลอมกันทั้งนั้น) และแสดงปริมาณการดาวน์โหลด ความเร็ว เวลาที่เหลือจนกว่าจะดาวน์โหลดเสร็จสิ้น
            อย่างไรก็ดีหากมีการหยุดดาวน์โหลดไฟล์ก่อนที่จะเสร็จสิ้น ผู้ใช้สามารถกลับมาดาวน์โหลดไฟล์ต่อได้จากจุดที่หยุดไปโดยไม่ต้องเริ่มต้นโหลดใหม่ โดยระบบจะค้นหาแหล่งข้อมูลใหม่มาต่อไฟล์ให้ซึ่งอาจจะไม่ได้ดาวน์โหลดจากผู้ที่ให้ดาวน์โหลดรายเดิม เนื่องจากผู้ที่ให้ดาวน์โหลด(ผู้ที่ใช้
KaZaA)รายนั้นอาจออกจากระบบเครือข่ายไปแล้ว

 

 

        จากข้างต้นจะเห็นว่า เป็นกรณีที่ผู้ใช้ทำการแบ่งปันไฟล์กันโดย"ดาวน์โหลดกันเองโดยตรง"เพียงแต่อาศัยเครื่องมือที่เรียกว่าระบบ P2P ซึ่งในที่นี้คือโปรแกรม KaZaA  นั้นเอง

 

ประเด็นทางกฎหมายตามคำพิพากษา

            ในส่วนของประเด็นในทางกฎหมายนี้จะเริ่มพิจารณาถึงกฎหมายและคำพิพากษาของศาลในคดีดังกล่าว แล้วจึงวิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกิดจากคำพิพากษานั้น ๆ ต่อไป

        ในส่วนของหลักกฎหมายและคำพิพากษานั้น มีปัญหาข้อกฎหมายในสองส่วนโดยในส่วนแรกจะเป็นประเด็นปัญหาประเทศฝรั่งเศสเกี่ยวกับเรื่องการถอดระบบป้องกันการทำซ้ำโปรแกรมออก(déplombage) และส่วนที่สองคำพิพากษาในคดีเกี่ยวกับการแบ่งปันข้อมูล หรือไฟล์

           โดยประเด็นปัญหาเรื่องการถอดระบบป้องกันการทำซ้ำโปรแกรมออก(déplombage)เป็นประเด็นที่ประเทศฝรั่งเศสมีข้อถกเถียงกันมาตลอดว่าควรจะมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่  แม้จะมีคำพิพากษาวางหลักออกมาแล้วก็ตามทั้งนี้เนื่องจาก ทางผู้ผลิตเห็นว่า ควรมีกฎหมายกำหนดโทษกับผู้ที่ทำซ้ำโปรแกรม ส่วนทางผู้ใช้ก็ยังเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องมีการทำซ้ำโปรแกรมบางกรณี เช่น กรณีทีต้องมีการสำรองข้อมูลเพื่อนำกลับมาใช้เมื่อระบบเสียหาย(ซึ่งในกรณีการสำรองข้อมูลในกรณีเช่นนี้กฎหมายก็ได้รับรองไว้อย่างชัดเจนว่าสามารถทำได้)

            โดยในเรื่องนี้ในปี คศ. 1989 ศาลอุทธรณ์แห่งนครปารีสถือว่า การถอดระบบป้องกันการทำซ้ำโปรแกรมออก (déplombage) สามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย(licite) เนื่องจาก ผลของการทำดังกล่าวเกิดขึ้นกับคำสั่งบางส่วนเท่านั้น "ไม่ได้มีการทำซ้ำ" และไม่ใช่อย่างเดียวกันกับการทำของปลอม(contrefaçon) (CA Paris, 13e ch., 2 mars 1989 : " ลำพังการทำให้ระบบการป้องกันของโปรแกรมไม่สามารถใช้ได้ไม่ถูกพิจารณาว่าเป็นการกระทำปลอมตามกฎหมายที่บังคับอยู่ปัจจุบัน)

            อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ โดยการแก้ไขครั้งหลังสุดได้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับลิขสิทธิ์มาบัญญัติไว้ใน Code de la propriété intellectuelle และได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่อง ถอดระบบป้องกันการทำซ้ำโปรแกรมออก (déplombage) ไว้ในมาตรา  L. 122-6-2 ไว้ว่า  "โปรแกรมถอดระบบป้องกันหรือที่ทำให้ระบบป้องกันใช้งานไม่ได้ จะต้องระบุในคำโฆษณาและคู่มือการใช้ว่า การนำโปรแกรมไปใช้อย่างผิดกฎหมายจะต้องถูกลงโทษในฐานปลอมแปลง"

            ถึงแม้ว่า มาตราดังกล่าวจะไม่ได้กำหนดว่าการถอดระบบป้องกันการทำซ้ำโปรแกรมออก(
déplombage)เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่การที่มาตราดังกล่าวกำหนดความผิดไว้เฉพาะ "การนำโปรแกรมไปใช้อย่างผิดกฎหมาย" ทำให้นักกฎหมายฝรั่งเศสตีความว่าจะต้องมีกรณีที่เป็นการนำโปรแกรมดังกล่าวไปใช้อย่างไม่ผิดกฎหมายด้วย ประกอบกับเมื่อย้อนไปพิจารณาตามเจตนารมณ์ของผู้ยกร่างกฎหมายนี้ที่ไม่ได้นำหลักการตามมาตรา 7 ของแนวทางของสหภาพยุโรป (directive communautaire)ปี ค.ศ. 1991 ที่กำหนดให้ลงโทษการถอดระบบป้องกันการทำซ้ำโปรแกรมออก(déplombage)มาบัญญัติไว้อย่างประเทศสมาชิกอื่น ทำให้นักกฎหมายฝรั่งเศสเชื่อว่ากฎหมายนี้ได้ยืนหยัดหลักการเดิมตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์นครปารีสข้างต้นที่ว่าการกระทำดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดไว้(โดยเฉพาะ ผู้กระทำจะถูกลงโทษก็ต่อเมื่อการกระทำนั้นเป็นความผิดตามองค์ประกอบความผิดฐานอื่น)( ดู Frédéric Sardain,Du déplombage aux logiciels peer-to-peer: l'histoire sans fin? (à propos de l'arrêt KaZaA), RD n°5, 2004, p.330-331.)

            เมื่อปัจจุบันเป็นที่ยุติแล้วว่าการถอดระบบป้องกันการทำซ้ำโปรแกรมออก (déplombage) สามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายตามกฎหมายฝรั่งเศส ปัญหาที่ตามมาก็คือ เมื่อผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่มีโปรแกรม P2P สามารถต่อกับผู้ใช้ P2P รายอื่นเพื่อโหลดโปรแกรมที่ถอดระบบป้องกันการทำซ้ำโปรแกรมออกแล้วและนำมาติดตั้งใหม่ได้ กรณีเช่นนี้กฎหมายจะให้ความคุ้มครองแก่ผู้มีลิขสิทธิ์อย่างไร

            ในกรณีเกี่ยวกับการแบ่งปันข้อมูล หรือไฟล์ต่าง ๆ นั้นศาลประเทศสหรัฐอเมริกาได้พิพากษาลงโทษผู้ผลิตโปรแกรม Napster ที่เป็นโปรแกรมในการแบ่งปันข้อมูล หรือไฟล์ว่ามีความผิดตามกฎหมาย(239 F3d 1004, 9th Cir.2001) อย่างไรก็ดี กรณีโปรแกรม Napster นั้นต่างไปจากกรณีของ P2P กล่าวคือ ระบบโปรแกรมของ Napster นั้นจะมีระบบทางเทคนิกแบบรวมศูนย์ในการควบคุมและดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือไฟล์ ด้วยระบบ "supernodes" (หรือที่เรียกว่า "super nœuds" เป็นระบบที่ผู้ใช้จะนำข้อมูลต่าง ๆ ไปรวมไว้ที่ serveur แล้วเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลจะเป็นคนดูแลดำเนินการนำสู่เครือข่าย Fast Track ต่อไป)ส่วนระบบ P2P ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่าเป็นระบบที่ผู้ใช้แต่ละรายดำเนินการแลกเปลี่ยน(ดาว์นโหลด)ไฟล์จากกันและกันเอง ซึ่งเป็นระบบ protocole MFTP ของเครือข่ายแบบ Fast Track

            ดังนั้น กรณีของ P2P จึงเป็นกรณีที่ต่างออกไป โดยบริษัท Buma-Stemra ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายเพลงรายใหญ่ได้ยื่นฟ้องผู้ผลิตโปรแกรม KaZaA ต่อศาลที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ขอให้หยุดการเผยแพร่โปรแกรม KaZaA  ห้ามพัฒนาโปรแกรมดังกล่าวต่อ และขอให้ควบคุมการแลกเปลี่ยนโปรแกรมให้เป็นไปตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา

            เมื่อวันที่ 28 มีนาคม คศ. 2002 ศาลอุทธรณ์ของเมืองอัมสเตอร์ดัมได้พิจารณาแล้วเห็นว่า โดยที่ทางเทคนิก
KaZaA ไม่สามารถควบคุมการบรรจุไฟล์เพื่อให้ดาวน์โหลดได้เนื่องจากเป็นเรื่องของผู้ใช้แต่ละคนจะเลือกไฟล์ที่ต้องการแลกเปลี่ยนที่อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้แต่ละรายเอง ดังนั้นจึงเห็นว่า KaZaA ไม่ต้องรับผิดจากการใช้โปรแกรมของตนในทางที่ผิดกฎหมาย ([2002] EIPR N-130)  (ซึ่งต่อมาในประเทศสหรัฐอเมริกาวันที่ 25 เมษายน ค.ศ.2003 ศาลอุทธรณ์ของ District central de Californie ได้มีคำพิพากษาไปในทางเดียวกัน)

            และในที่สุดศาลสูงของประเทศเนเธอร์แลนด์ได้มีคำพิพากษาในคดีนี้เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 2003 โดยได้พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ โดยให้เหตุผลเดียวกัน

            ถือได้ว่าเป็นชัยชนะของผู้พัฒนาโปรแกรม KaZaA ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งจากคำพิพากษาจะเห็นได้ว่านักกฎหมายของเนเธอร์แลนด์ได้มุ่งเน้นกรณีที่ผู้ใช้นำโปรแกรมผิดกฎหมายมาใช้มากกว่าการนำโปรแกรมมาแจกจ่ายกัน ซึ่งในความเป็นจริงนักกฎหมายในยุโรปก็คาดได้ว่าคำพิพากษาจะออกมาเช่นนั้นเมื่อพิจารณาจากแนวทางคำพิพากษาที่ผ่านมาของประเทศในยุโรปเรื่อง การถอดระบบป้องการการทำซ้ำ หรือคำตัดสินในประเทศสหรัฐอเมริกาเรื่อง"การมีส่วนทำให้เสียหาย"

            อย่างไรก็ตาม ในส่วนของนักกฎหมายนั้นเห็นว่า เมื่อการถอดระบบป้องการการทำซ้ำไม่ผิดกฎหมายโดยตัวของมันเอง (เพราะ ไม่ใช่การทำปลอม) และโปรแกรม P2P ก็ไม่ใช่โปรแกรมที่ผิดกฎหมายด้วยตัวของมันเองเช่นกัน (เพราะ สามารถใช้แลกเปลี่ยนข้อมูลหรือโปรแกรมที่ถูกกฎหมายอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น โปรแกรมที่ให้ใช้ฟรี เป็นต้น )ได้สร้างปัญหาในการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย

            หากศาลสูงของประเทศต่าง ๆ ได้รับแนวคำพิพากษาดังกล่าวของประเทศเธอร์แลนด์มาเป็นหลักในประเทศของตนแล้วผู้ทรงสิทธิ์ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ก็อาจมีภาระในการที่จะรักษาสิทธิตามกฎหมายลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้น เพราะ เมื่อการแจกจ่ายโปรแกรมของ P2P ไม่ผิดกฎหมายแล้วการที่จะต้องไปดำเนินการฟ้องร้องเอากับผู้ที่ดาวน์โหลดโปรแกรมที่ผิดกฎหมายไปซึ่งอยู่กระจายทั่วไปก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นอันมากและไม่มีหลักประกันว่าจะชนะในทุกคดี นอกจากนี้ คำพิพากษาของศาลสูงดังกล่าวก็เหมือนกับการเปิดทางให้กับผู้ปลอมแปลงสมัครเล่น

        โดยในทุกวันนี้ผู้ผลิตไฟล์ MP3(ไฟล์เสียงประเภทหนึ่งที่ดัดแปลงจากไฟล์เพลง ทำให้ให้ไฟล์มีขนาดเล็กสามารถจัดเก็บไว้ได้จำนวนมากและสามารถดาวน์โหลดได้เร็วขึ้น) หรือ DivX(ไฟล์ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจาก VCD หรือ DVDเป็นต้น เพื่อให้ใช้ดูได้ในทุกพื้นที่(all zone)และสามารถดาวน์โหลดได้อย่างรวดเร็ว)ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีจำนวนมาก

        ในประเด็นนี้ ดร. Frédéric Sardain แสดงความเห็นไว้ว่า แม้ในการพิจารณาคดีของศาลเนเธอร์แลนด์ดังกล่าวจะได้ความว่าโปรแกรม P2P สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในกรณีตัวแทนขายอสังหาริมทรัพย์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือกรณีการแลกเปลี่ยนภาพถ่ายของช่างภาพอิสระก็ตาม แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบันว่า ผู้ใช้โปรแกรม P2P ส่วนมากมีวัตถุประสงค์ที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนไฟล์ที่ผิดกฎหมาย หรือไฟล์โปรแกรมที่ถอดระบบป้องกันการทำซ้ำแล้ว (ซึ่งจากการนี้ทำให้ผู้ผลิตเพลง ภาพยนตร์และโปรแกรมสูญรายได้เป็นจำนวนมาก ) และหากจากสถิติข้างต้นชี้ให้เห็นว่า P2P เป็นต้นเหตุให้เกิดการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างมากมายขนาดนี้แล้ว เราจะสามารถวินิจฉัยได้หรือไม่ว่ากรณีนี้เป็นกรณีเช่นเดียวกับผู้สนับสนุนโดยเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์ให้กระทำความผิด ซึ่งตามแนวทางนี้ได้มีคำพิพากษาไว้ในกรณีของการทำ link โดยศาลไม่ได้ลงโทษในฐานกระทำความผิดปลอมแปลง แต่ลงโทษผู้ทำในฐานะผู้สนับสนุน(ดู F.Sardain "Liens hypertextes", J.-CI. Communication., Fasc. 4730, 2003, n°23)

        นอกจากนี้ดร. Frédéric Sardain ยังแสดงความห่วงใยกรณีการเข้ามาดึงข้อมูลส่วนบุคคลโดยผ่านโปรแกรม P2P ด้งกล่าวอย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ได้มีความพยายามที่จะยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลในส่วนนี้แล้ว และตามคำพิพากษาของ CA District of Columbia วันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 2003 ผู้ให้บริการระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไม่สามารถเปิดเผยชื่อของผู้ใช้บริการที่คาดว่าเป็นผู้ล้วงข้อมูล(hacker(E.) : piratage(F.))กับ RIAA

        ในเรื่องของโปรแกรม P2P นี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องติดตามกันต่อไป เพราะในปัจจุบันผู้ประกอบการได้พยายามทำทุกวิถีทางที่จะสกัดกั้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือโปรแกรมดังกล่าว โดยทางกฎหมายในฝรั่งเศสได้พยายามเสนอร่างกฎหมายให้การถอดระบบป้องกันการทำซ้ำโปรแกรมออก (déplombage)เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย(ในร่างกฎหมายวรรคแรกของร่างมาตรา L.331-5) ซึ่งน่าติดตามว่าหากการถอดระบบป้องกันการทำซ้ำออกแล้ว แม้จะดาวน์โหลดโปรแกรมหรือข้อมูลต่าง ๆ ไปได้แต่จะไม่สามารถนำไปใช้งานได้ ผลการละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์จะยังคงเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะในปัจจุบันแม้ระบบ P2Pจะพบปรากฎการณ์ไวรัสระบาดในระบบ P2P และมีการออกข่าวเกี่ยวกับไวรัสในระบบ P2P ก็ตามแต่จำนวนผู้ใช้ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างมากเนื่องจาก เป็นวิธีที่สามารถใช้โปรแกรมได้โดยไม่ต้องซื้อนั้นเอง

       

คลิ้กเพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ

(กลับไปข้างบน) /(กลับไปหน้าแรก) / (กลับไปสารบัญบทความ)